วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564

อานุภาพของ ‘คำพูด’

 


           

คำที่พูดออกมาจากปากคน ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามสไตล์ ลีลา คารม โวหาร ของแต่ละคน ซึ่งก็จะมีประเภทหนึ่งที่พูดออกมาเพียงคำว่าแบะ ๆ ก็คือคนใบ้ที่พูดออกมาเป็นภาษาคงจะไม่ได้ ต้องใช้ภาษาอื่นแทนคำพูดกันไป คือ ภาษามือนั่นเอง

           

คำพูดของคนเรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน บางคนคำพูดของเขาช่างมีคารม ที่ดูจะคมคายพูดอย่างมีเสน่ห์ชวนให้มาฟัง คนพูดเก่ง พูดดียังประกอบเป็นอาชีพได้ อย่าง กลุ่มนักพูด ที่ผู้คนคอยซื้อบัตร ซื้อตั๋วเข้าไปฟังเขาพูด นับเป็นชั่วโมงแห่งการหรรษา พาเพลินไปกับคำพูดของเขา เรียกเสียงหัวเราะฝากรอยยิ้ม สร้างความสุขให้แก่คนฟังกันได้มาก ๆ

           

คำพูดบางคนเชื่อถือได้ ในขณะที่คำพูดของคนบางคน ต้องเอา 50 หรือ 100 หาร เชื่อถือคำพูดของเขาไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนอารมณ์ดี ๆ มีความสุขในการพูด บางกลุ่มที่พูดแล้วสนุกเพลิดเพลินดี ฟังแล้วไม่เห็นจะจริงตามที่พูด ก็เขาก็โม้ให้เราฟัง แต่ว่าถ้าคำพูดของเขานั้น สร้างความสนุกเพลิดเพลินใจดีแต่หาสาระนั้นก็คงไม่ได้หรอก

 

คำพูดที่น่าเชื่อถือ

มักจะไม่สวย

คำพูดที่สวย

นั้นไม่น่าเชื่อถือ

#เล่าจื้อ

 

           

คำพูดเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถเปลี่ยนจิตใจของผู้ฟังได้อย่างน่าอัศจรรย์ ยิ่งเป็นคำพูดที่สวยหรูดูหวานหูแล้วมักจะเป็นที่เชื่อถือกันมาก ซึ่งในความจริงแล้วคำพูดเหล่านั้นจะถูกหรือผิดก็ยังไม่รู้ได้

           

คำพูดหลอกลวงเพื่อหวังผลบางอย่าง ส่วนมากจะพูดออกมาด้วยถ้อยคำที่หวาน เพื่อล่อหลอกให้ผู้ฟังนั้นหลงเชื่อใจ เหมือนรสหวานที่คนเราใช้หลอกล่อแมลงมาติดกับ ต่างจากคำพูดที่จริงใจและจริงจังที่มักจะฟังดูไม่ค่อยลื่นหูเท่าไหร่เมื่อฟังทีไรก็ยิ่งสร้างความรำคาญทำให้อารมณ์เสีย และสุดท้ายก็มักจะไม่เชื่อคำพูดเหล่านั้น

           

คนที่มีปัญหาจะฟังสิ่งใดนั้นต้องควบคู่กับการพินิจพิเคราะห์ไปด้วย ต้องดูที่มาที่ไปว่าความจริงแล้วผู้พูดนั้นมีจุดประสงค์อะไร และเราเชื่อถือคำพูดนั้นมากน้อยเพียงใดด้วย หากทำได้เช่นนี้ก็จะเห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ในคำพูดเหล่านั้น จะไม่หลงตกเป็นเหยื่อโดยง่าย

           

ผู้มีปัญญาย่อมเลือกที่จะฟังด้วยสมองมากกว่าฟังด้วยหู เพื่อจะได้รับรู้ความจริงของถ้อยคำนั้น ยิ่งคนผู้นั้นเป็นผู้ที่มีอำนาจปกครองบ้านเมือง  การฟังจึงต้องละเอียดกว่าคนธรรมดามาก เพราะหากฟังเอาความไพเราะของคำพูดเป็นหลักแล้วเชื่อไปเสียทุกอย่าง ย่อมหลงเป็นเหยื่อของคนโฉดได้ง่าย สุดท้ายก็ทำงานอย่างถูก ๆ ผิด ๆ ทำให้บ้านเมืองระส่ำระสายวุ่นวายไปหมด

           

ผู้นำเช่นนี้ย่อมไม่อาจจะปกปักรักษาบ้านเมืองได้อย่างร่มเย็นได้ ในประวัติศาสตร์ก็มีผู้นำที่เป็นเช่นนี้มากมาย ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาคล้าย ๆ กันคือทำให้บ้านเมืองแตกแยกสุดท้ายก็นำความล่มสลายมาสู่แผ่นดิน

           

คำพูดที่หวานแต่โป้ปดนั้นมีอนุภาพยิ่งกว่าหอกกว่าดาบที่แหลมคม นั่นเพราะคมหอกคมดาบนั้นฟาดฟันเพียง เนื้อหนัง กระดูก เท่านั้น แต่คำพูดโป้ปดเหล่านั้น ฟาดฟันไปถึงความเป็นคนให้สูญสิ้นไป

           

คำพูดของคนแต่ละคนนั้นก็มีความเชื่อถือแตกต่างกันไปตามลักษณะของคนนั้น จะเชื่อถือคำพูดของใครคนใดคนหนึ่งจำต้องมีการพินิจพิจารณาคำพูดของเขาว่ามีความจริงแค่ไหนแต่สำหรับคนขี้โม้นั้นแม้จะไม่มีความจริงอยู่เลยแต่ผู้คนก็ฟังเขาพูดตลอดจนจบเรื่อง เพราะเขาคนขี้โม้นั้นพูดเก่ง ลีลาเจ๋ง คมคายดี เอาความสนุกมาฝากคนจึงฟังกันมากทั้ง ๆ ที่รู้ว่าที่ฟังกันนั้นโม้ ไม่จริงกันทั้งเพก็ตามที

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์