วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564

สำรวจ”เมืองโบราณศรีเทพ” ย้อนอดีต ก่อนเสนอสู่มรดกโลก


จำนวนผู้เข้าชม counter for blog


          

เมืองโบราณที่ตั้งอยู่มานานกว่าพันปีในประเทศไทย และยังคงหลงเหลือสภาพความเจริญรุ่งเรืองในอดีตให้เราได้เข้าไปชมและสัมผัสกับคุณค่าอย่างเต็มที่ หนึ่งในนั้น คือ เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ บริเวณนี้มีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันเป็น อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มีโบราณสถานสำคัญเรียงรายกันสวยงาม

 

           

เมืองได้ถูกหยุดเวลาเอาไว้มานาน แต่เราได้เห็นหลักฐานสำคัญแต่ละยุคสมัย วิถีความเป็นอยู่ผู้คน ทำให้อาณาจักรโบราณแห่งนี้ทรงคุณค่า และยังมีการขุดค้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ล่าสุด มีเรื่องน่าตื่นเต้น เมื่อทีมนักวิจัยอนุรักษ์โบราณสถานและผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากร (ศก.) สำรวจพื้นที่อุทยานฯ ศรีเทพ ด้วยวิธีการวัดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าและธรณีเรดาร์ สันนิษฐานว่า ยังมีมหานครลึกลับฝังใต้พื้นดิน และรอการเปิดเผยให้โลกได้รู้  และนี่จะเป็นส่วนหนึ่งข้อมูลสนับสนุนเมืองโบราณศรีเทพขึ้นบัญชีมรดกโลกให้แข็งแกร่งขึ้น

 

           

ล่าสุด ครม.ไฟเขียวนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก  โดยประเทศไทยจะต้องจัดส่งเอกสารนำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก ภายในวันที่ 1 ก.พ. 2564   เพื่อให้ทันการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก

 

           

ทั้งนี้ จะผลักดันให้อุทยานฯ ศรีเทพ เป็นมรดกโลก   คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรมได้ดำเนินการตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่ยูเนสโกกำหนด ขณะนี้ขั้นตอนของการศึกษาความเหมาะสมเสร็จแล้ว ในส่วนของ ศก. กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำคำของบประมาณการพัฒนาพื้นที่แนวเขตที่จะมีการกันแนวเขตของพื้นที่แหล่งมรดกโลก การปรับปรุงผังเมืองรวมเพชรบูรณ์รวมที่จะมีขอบเขตครอบคลุมแหล่งโบราณสถาน ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ได้มีมติรอบรองการขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List)  เมื่อปี 2562

 

           

ในอนาคต อุทยานฯ ศรีเทพ จะเป็นที่รู้จักระดับสากลมากขึ้น จึงทำให้หวนนึกถึงอดีตที่ผ่านมาของ เมืองโบราณศรีเทพ  ข้อมูลจากกรมศิลปากร  เมืองโบราณศรีเทพ มีความเก่าตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ 2,500 ปี และได้ขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ มีอายุเก่าแก่ถึง 1,800 ปี และยุคทวารวดี  ที่มีความเก่าแก่ถึง 1,400 ปี  นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่ปรากฏร่องรอยหลักฐาน สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  วัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ มีความเจริญรุ่งเรืองถึง  800 กว่าปี จวบจนทุกวันนี้ 

 

              

นครโบราณแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยและโลก ในการทำเอกสารขอตีตรามรดกโลก นอกจากกรมศิลปากรหัวเรือใหญ่ คณะวิจัยจากสถาบันต่างๆ ลุยสำรวจเมืองโบราณศรีเทพไม่หยุด เพื่อจัดทำข้อมูลพื้นฐานทางวิศวกรรมประกอบในเอกสารขอขึ้นทะเบียน รวมถึงข้อมูลสนับสนุนแผนการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนภายใต้การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและชุมชน

 

    

รศ. ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าคณะวิจัยโครงการ การสำรวจและประเมินความมั่นคงเพื่อการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์มรดกโลก” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า อุทยานฯ ศรีเทพเป็นหนึ่งในพื้นที่ศึกษาหลักงานวิจัยครั้งนี้ โดยนำองค์ความรู้ที่คณะผู้วิจัยพัฒนาขึ้นจากเฟสแรกที่อุทยานฯ พระนครศรีอยุธยามาผนวกกับการวิจัยเชิงลึก เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานทางวิศวกรรมสำหรับขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก

 

           

ตนนำคณะนักวิจัยสำรวจภาคสนาม รวบรวมข้อมูลเชิงโครงสร้างในสภาพปัจจุบันของโบราณสถานที่สำคัญของอุทยาน ได้ผลการบันทึกภาพดิจิทัลจากการถ่ายภาพภาคพื้นดิน และถ่ายภาพมุมสูงโดยโดรน ข้อมูลจะไปประมวลเป็นรูปทรง 3 มิติของโบราณสถาน รวมถึงเก็บข้อมูลตำแหน่งและขนาดของรอยร้าวปัจจุบัน ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลวางแผนบำรุงรักษาอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป เราพบชั้นดินบริเวณโดยรอบปรางค์ฤาษีที่เอียงตัวทางด้านข้าง ต้องประเมินสาเหตุ รวมถึงแนวทางปรับปรุงให้โครงสร้างมั่นคง  รศ.ดร.นคร กล่าว

 

           

โบราณสถานหลัก 4 แห่งที่สำรวจ ได้แก่ ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์ฤาษี เขาคลังนอก และ เขาคลังใน ใช้เทคโนโลยีการสแกนวัตถุ 3 มิติด้วยแสงเลเซอร์ เพื่อประเมินเสถียรภาพของโครงสร้าง พร้อมทั้งเป็นฐานข้อมูลติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพโครงสร้างโบราณสถานในอนาคต เรื่องนี้ รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำภายใต้โครงการ การใช้ฐานข้อมูลดิจิทัลสำหรับงานวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืนในการอนุรักษ์โบราณสถานหรืออาคารโบราณในชุมชน

 

           

นอกจากนี้ คณะวิจัยได้รวบรวมวัสดุโบราณ และวัสดุทดแทน ภายใต้ความอนุเคราะห์จากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมาทดสอบในห้องปฎิบัติการเพื่อหาสมบัติทางกายภาพและทางกลของวัสดุตัวอย่าง เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวิเคราะห์และประเมินโครงสร้างให้มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้สำนักศิลปากรในเขตพื้นที่และชุมชนใกล้เคียงสามารถนำองค์ความรู้และฐานข้อมูลที่ได้รับจากการถ่ายทอดจากโครงการของเหล่านักวิจัยไปต่อยอด เพื่อพัฒนาและวางแผนกิจกรรมอนุรักษ์โบราณสถานในพื้นที่ศึกษาถูกต้องตามหลักวิชาการอีกด้วย 

       

           

การขุดค้นทางโบราณคดีค้นหาความจริง จะช่วยเติมเต็มการก้าวสู่มรดกโลก  ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการการประยุกต์ใช้การสำรวจธรณีฟิสิกส์เพื่อสนับสนุนการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานและการขุดค้นทางโบราณคดี  งานนี้ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ศก.สำรวจธรณีฟิสิกส์แบบผสมผสานด้วยวิธีการวัดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าและธรณีเรดาร์บริเวณพื้นที่รอบๆ เขาคลังนอก อุทยานฯ ศรีเทพ

           

เราพบบริเวณที่มีค่าการเหนี่ยวนำไฟฟ้าสูงกว่าปกติ ชี้ว่า อาจจะมีโครงสร้างโบราณสถานหรือโบราณวัตถุฝังอยู่ข้างใต้ จะนำผลศึกษาที่ได้หารือกับอุทยานฯ ศรีเทพ และกรมศิลปากรเพื่อวางแผนการขุดค้นต่อไป และมอบผลศึกษาที่ได้ให้เป็นงานวิชาการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกผศ.ดร.ภาสกร มั่นใจผลวิจัยน่าตื่นเต้น จะวิจัยเชิงลึกต่อ

               

ถือเป็นความคืบหน้าและความแข็งขันจากหลายภาคส่วนแสดงถึงความพร้อมในการเตรียมเอกสารเสนอสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลกอีกไม่กี่วันนับจากนี้

 

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง

 



Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์