วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2564

ชลประทานฯ เผยปล่อยน้ำทุกเดือน 1.2 ล้าน ลบ.ม. แต่ไม่เพียงพอดันน้ำเสีย แนะเทศบาลเปลี่ยนฝายยางเป็นฝายพับได้ ดูแลง่ายกว่า

 

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์ 

ชลประทานฯเผยระบายน้ำลงแม่วังทุกวัน แต่ปริมาณไม่มากเนื่องจากน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอที่จะไล่น้ำเสีย แนะเทศบาลปรับปรุงฝายยางเป็นฝายพับได้แทน  ส่วนการสร้างประตูระบายน้ำแม้จะดีกว่าแต่ค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป

          ปัญหาแม่น้ำวังเน่าเสียในเขตเทศบาลนครลำปางยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งของทุกปี น้ำจะแห้งขอดอยู่ในสภาพนิ่งและมีตะไคร่น้ำสีเขียว วัชพืชน้ำลอยอยู่บนผิวน้ำ รวมถึงเศษขยะจำนวนมาก ทำให้เป็นภาพไม่น่ามองสำหรับผู้พบเห็น 

          โดยในปีนี้เทศบาลนครลำปาง ได้ดำเนินการนำเครื่องจักรเข้าตักวัชพืชน้ำ เช่น ผักกาดน้ำ สาหร่ายหางกระรอก และผักตบชวา  ออกตั้งแต่ช่วงหน้าฝายเฉลิมพระเกียรติมาจนถึงสะพานพัฒนาภาคเหนือ และได้ขยายไปเรื่อยๆ ปัจจุบันดำเนินการ ตั้งแต่บริเวณหลังโรงพยาบาลแวนแซนต์วูดลำปาง ถึงบริเวณหลังวัดเกาะวาลุการาม ระยะทางประมาณ 700 เมตร  โดยจะนำวัชพืชรวมกองเข้าฝั่งผึ่งให้สะเด็ดน้ำ เพื่อรอขนถ่ายไปยังลานหมักปุ๋ย พร้อมทั้งการพัฒนาสภาพแวดล้อมและปรับภูมิทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำวัง โดยทำความสะอาดกวาด กำจัดขยะมูลฝอย และกิ่งไม้ใบไม้แห้ง ตัดกิ่งไม้ ล้างทำความสะอาดพื้นทางเท้าตามแนวแม่น้ำวัง  แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาได้เฉพาะหน้าเท่านั้น


          จากการพูดคุยกับ นายสมจิต อำนาจศาล ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 2 เรื่องการปล่อยน้ำจากเขื่อนกิ่วลมเพื่อรักษาระบบนิเวศในแม่น้ำวัง ได้รับการเปิดเผยว่า การปล่อยน้ำจากเขื่อนกิ่วลมได้ปล่อยไปทุกวัน ในปริมาณ1.4 ลบ.ม.ต่อวินาที  หรือ 1.2 แสน ลบ.ม.ต่อวัน โดยปล่อยผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อนกิ่วลม  ซึ่งน้ำจำนวนนี้ก็น้อยมากและจะมาไม่ถึงตัวเมือง  แต่มีน้ำอีกส่วนหนึ่งที่จะปล่อยมาเพื่อผลักดันน้ำเสียในตัวเมืองเดือนละหนึ่งครั้ง คือ ปล่อยครั้งละ 4 แสน ลบ.ม.เป็นเวลา 3 วันติดกัน เท่ากับปล่อยน้ำเดือนละ 1.2 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเดือนที่แล้วเราปล่อยมาประมาณวันที่ 15-16 และเดือนนี้ก็จะปล่อยมาประมาณกลางเดือนเช่นกัน แต่ถ้าจะให้ปล่อยน้ำให้มาระบายของเสียตลอดทุกวัน วันละ 4 แสน ลบ.ม.ก็คงไม่ไหว คือ เดือนละ 12 ล้าน ลบ.ม. เรามีน้ำไม่เพียงพอแน่นอน  จึงปล่อยได้เป็นบางช่วงเท่านั้น



          ส่วนเรื่องของการพูดคุยหรือการประชุมเรื่องของการสร้างประตูระบายน้ำในเขตเทศบาลนั้น เคยประชุมร่วมกับทางจังหวัดมาแล้ว คณะกรรมการลุ่มน้ำวัง มีความเห็นว่าควรจะเป็นทำเป็นโครงการทั้งลุ่มน้ำวังเลย แต่เนื่องจากการสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำวัง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก จะต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขอความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)  จึงจะสำรวจออกแบบของบประมาณได้

          “ในการก่อสร้างประตูระบายน้ำก็มีโอกาสทำได้ แต่ต้องศึกษาความเหมาะสมให้ดีก่อน เพราะหากเราไปกั้นหลายจุดอาจมีผลกระทบเรื่องของน้ำท่วมได้ และถ้ากั้นแล้วไม่มีน้ำมาเติม เมื่อน้ำนิ่งก็กลายเป็นน้ำเสียได้เหมือนกัน  การทำงานนี้ต้องระดมทุกภาคส่วนมาช่วยกัน ไม่ใช่ว่าหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะทำได้ เพราะดูแล้วจะสำเร็จยาก ต้องมีขบวนการอีกหลายขบวนการเข้ามา  ต้องช่วยกันผลักดันจริงๆ โดยจังหวัดเป็นหน่วยงานหลัก  ส่วนงบประมาณในการก่อสร้างประตูระบายน้ำ  ขึ้นอยู่กับความกว้าง ความยาว  อาจจะหลายสิบล้านไปจนถึงร้อยล้านก็ได้ อยู่ที่การออกแบบว่ามีความยาวเท่าไร มีบันไดปลาหรือไม่ ในส่วนที่จะสร้างในเขตเทศบาลนครลำปาง เคยพูดคุยกันอยู่ที่งบประมาณ 40 ล้านบาท”  


ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 2   กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวตนเองมีความเห็นว่าควรจะต้องมีการปรับปรุงฝายยาง เพราะมีอายุการใช้งานมากนาน  ระบบการปิด-เปิดค่อนข้างจะลำบาก และที่เคยคุยกับฝ่ายออกแบบ อาจจะทำเป็นฝายพับได้   เพราะเดิมมีฝายยางอยู่แล้ว ซึ่งจะมีฐานคอนกรีต สามารถเปลี่ยนได้ โดยฝายพับได้เป็นไฮโดรริคสามารถยกขึ้น-ลงได้ สามารถสั่งการผ่านมือถือได้เลยไม่ต้องใช้คนไปเปิด-ปิดที่หน้าประตู เพียงปรับปรุงเอาตัวยางออก ส่วนตัวฐานก็ใช้ตัวเดิมหรือเสริมขึ้นมาอีกนิดหน่อยแล้วใช้ฝายพับเข้าไปวาง ส่วนในภาคเหนือทำฝายพับได้ไปแล้วที่กว้านพะเยา สามารถเปลี่ยนได้ปรับปรุงได้ตลอดเวลา ดีกว่าการที่รื้อใหม่ทั้งหมด ซึ่งค่าใช้จ่ายมันสูงมาก ทั้งค่ารื้อและค่าก่อสร้างใหม่  ถ้าใช้โครงสร้างเดิมก็มาปรับปรุงเอานิดหน่อยจะประหยัดกว่ากันมาก  

อย่างไรก็ตาม  การสร้างฝายมีผลทั้งดี ทั้งเสีย ถ้าเป็นฝายแข็งเลยเราเก็บน้ำได้จริงในฤดูแล้ง แต่ก็จะมีผลกระทบในช่วงฤดูฝน เพราะพอฝนมามีน้ำมากๆ เมื่อมีอะไรไปกั้นโอกาสที่มันจะท่วมก็มีมาก ฉะนั้นต้องออกแบบให้เหมาะสม  ถ้าสามารถก่อสร้างประตูระบายน้ำได้ก็จะดีกว่าแน่นอน นายสมจิต กล่าว.




 

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์