วันที่
1 มี.ค. 64 เพจ กฟผ.แม่เมาะ ได้โพสต์ภาพซากโครงสร้างอาคาร
ซึ่งเป็นวิหารวัดเก่าบ้านสบม่ำ ในพื้นที่เขื่อนแม่จางเป็นหลักฐานที่หลงเหลือของชุมชนสบม่ำ
ที่นานครั้งจะปรากฏมาให้เห็น โดยวิหารเก่าแห่งนี้เคยปรากฏให้เห็นมาแล้วครั้งแรก
เมื่อปี 2559 หากนับรวมปีนี้ถือว่าเป็นการปรากฏครั้งที่ 2
ตั้งแต่มีการก่อสร้างเขื่อนแม่จาง เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปี
2564 อยู่ในขั้นวิกฤติ มีผลกระทบต่อทั้งน้ำใช้สำหรับการเกษตร
การอุปโภคบริโภค รวมถึงความเสี่ยงต่อความมั่นคงในการผลิตกระแสไฟฟ้า
โดยจากข้อมูล
วันที่ 1 มี.ค. 64 อ่างแม่จางมีปริมาณน้ำคงเหลือใช้ได้คิดเป็น 17.75 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งหากไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเพิ่มในอ่าง
จะมีน้ำเพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าไปได้ถึงแค่ราวเดือนพฤษภาคมเท่านั้น
ทั้งนี้คณะทำงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (คทน-ฟม.) ได้วางแผนและกำหนดมาตรการต่างๆให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีน้ำใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าไปจนกว่าน้ำฝนจะตกลงมาเติมเต็มความแห้งแล้งอีกครั้ง
ทั้งการปิดซ่อมคลองส่งน้ำแม่จางเพื่อลดการรั่วไหลของน้ำ
รณรงค์ให้ประหยัดน้ำภายในองค์กรพร้อมทั้งลดการใช้น้ำฉีดล้างภายในโรงไฟฟ้าและระบบสำรองดับเพลิง
ตลอดจนการวางแผนหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าบางโรง
พร้อมปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
สำหรับหมู่บ้านสบม่ำ
เป็นชุมชนที่เคยอาศัยอยู่บริเวณเหนือเขื่อนแม่จางและเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ยอมเสียสละพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนให้มีน้ำเพียงพอผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศไทย
โดยได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่และเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านใหม่รัตนโกสินทร์
ต.นาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ในปัจจุบัน
ภายหลังดำเนินการสร้างเขื่อนแม่จางเสร็จระดับน้ำได้สูงขึ้นจนท่วมหมู่บ้านสบม่ำให้จมอยู่ใต้น้ำ
จนกระทั่งในปีปัจจุบันระดับน้ำได้ลดลงและเผยให้เห็น
ซากโครงสร้างอาคารเก่าที่ยังหลงเหลือของหมู่บ้านสบม่ำอีกครั้ง หลังจากที่เคยปรากฏครั้งแรกในช่วงเดือนมีนาคม
ปี 2559 หากนับจากครั้งแรกเป็นการปรากฏในรอบ 5 ปี แต่ถ้าย้อนไปตั้งแต่มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเสร็จในปี
2522
ถือเป็นวิกฤตที่ระดับน้ำในเขื่อนแม่จางลดลงอย่างมากในรอบ 42 ปี
ภาพ กฟผ.แม่เมาะ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น