วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2564

ดราม่า อินเดีย ข่าวจริง หรือเฟคนิวส์!

         


ม่เพียงคุณหมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศปค.เท่านั้น ในฉับพลันที่ปรากฎหัวข่าว “เศรษฐีอินเดียแห่เช่าเหมาลำ บินหนีโควิด – 19 บางลำบินเข้าไทย” บนสื่อออนไลน์ ตรงกันหลายสำนัก ปฎิบัติการ IO ของรัฐที่จะสู้ด้วยข้อมูลข่าวสาร ขณะเดียวกันก็พุ่งเป้าดิสเครดิตสื่อที่เสนอข่าวนี้ ก็ดำเนินไปอย่างเป็นขบวนการด้วย

           

กระทรวงดีอีเอส ถึงขนาดแขวนป้าย “เฟคนิวส์” ให้กับสื่อบางสำนัก

           

คล้ายกับว่า การเดินทางมาประเทศไทยของคนสัญชาติอินเดีย ที่สถานการณ์การระบาดของโควิดร้ายแรงอย่างยิ่ง คนตายวันละหลายแสน เพิ่งปรากฎเป็นเรื่องสำคัญ ใหญ่โต จนไม่สามารถยอมได้ หากทำให้คนเข้าใจว่า คนอินเดียเหล่านั้นกำลังจะเข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์โควิดในเมืองไทยให้เลวร้ายมากขึ้น

           

ความเป็นจริง พาดหัวข่าวและเนื้อหาข่าวอินเดียมาไทยชิ้นนี้ เป็นไปตามหลักการการเขียนข่าวที่ถูกต้องแล้ว คือพาดหัวข่าว จากประเด็นสำคัญที่คนอินเดียที่มีฐานะพากันเช่าเหมาลำ เดินทางออกนอกประเทศจริง และบางลำมีเป้าหมายบินเข้ามาประเทศไทยก็เป็นจริง ตามหลักฐานเอกสารของสถานฑูตไทยในประเทศอินเดีย

           

ทุกสื่อออนไลน์ พาดหัวตรงกันว่า บางลำบินเข้าไทย ข้อผิดพลาดคือ คำว่าบางลำนั้นทำให้คนอ่านเข้าใจผิดว่า เป็นเครื่องบินเหมาลำด้วย ซึ่งต้องยอมรับความผิดพลาดในประเด็นนี้ แต่ไม่ได้แปลว่า หากคนอินเดียไม่ได้มาแบบเหมาลำแล้ว จำนวนของพวกเขาที่เข้ามา จะมีจำนวนน้อยกว่าการเช่าเหมาลำ

           

สถานการณ์โควิดในอินเดียวิกฤติมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนนี้หรือก่อนหน้านั้น จนถึงวันที่ระบบสาธารณสุขทั้งระบบของเขาอยู่ในภาวะล่มสลาย รัฐบาลไทยรู้ ศบค.รู้ และรายงานสถานการณ์โควิดที่ประเทศอินเดียมาอย่างต่อเนื่อง

           

รัฐบาล และศบค.รู้อยู่แก่ใจว่า คนที่เดินทางมาจากชมพูทวีปไม่ว่าจะเป็นคนอินเดีย หรือคนไทย ล้วนเป็นบุคคลที่อันตราย และมีจำนวนไม่น้อยที่พบติดเชื้อ ระหว่างที่อยู่ใน State Quarantine

           

แต่ตั้งแต่วันที่ 1 – 20 เมษายน ก่อนที่สื่อจะเสนอข่าวนี้ คนจากประเทศอินเดีย เดินทางเข้ามาประเทศไทย จำนวน 602 คน และในวันที่ 17 เมษายน วันเดียว บินเข้าไทย เป็นชาวอินเดีย 114 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไทยเพียง 39 คน จำนวนคนอินเดียที่เดินทางเข้ามา ไม่ได้เรียกว่ามาแบบเหมาลำ แต่มันต่างอะไรจากการเหมาลำ??

           

ปรากฎการณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นก่อนที่สื่อจะเสนอข่าว และเป้าหมายในการเสนอข่าวของสื่อก็เพื่อรายงานข่าวตามหน้าที่ปกติ โดยเฉพาะในประเด็นความปั่นป่วน วุ่นวายสับสนของคนในประเทศอินเดีย ที่หนีตายไปยังประเทศต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย

           

ดังนั้น แทนที่จะใช้ปฎิบัติการ IO กับสื่อ รัฐและศบค. ควรลดวิธีการสื่อสาร ที่ใช้ลีลาภาษามากเกิน พูดความจริงครึ่งเดียว Half fact แล้วโยนความผิดให้คนอื่น บางทีอาจจะเรียกความเชื่อถือศรัทธากลับมาได้บ้าง







Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์