ดอยคำ จับมือกับ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
กระทรวงพลังงาน (สนพ.) ดัน “โครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบ” สู่
เต่างอยโมเดล CBG สร้างสุข พลังงานทดแทนเพื่อชุมชน ณ
ชุมชนบ้านนางอย และ บ้านโพนปลาโหล ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร
นายพิพัฒพงศ์
อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร
จำกัด กล่าวว่า ดอยคำเป็นหนึ่งในโครงการตามพระราชดำริ ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9
บริษัทต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม ดำเนินงานตามศาสตร์พระราชา
ที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของขยะและของเสียต่างๆ
จึงได้มีแผนการดำเนินงานพัฒนาสังคมและชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ทั้ง 4 แห่ง
“ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทน
ด้วยระบบท่อส่งก๊าซเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบ
เป็นหนึ่งในการดำเนินงานของบริษัทฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
ด้วยการนำน้ำที่ผ่านกระบวนการผลิตภายในโรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย)
จ.สกลนคร มาผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสาธิตให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตก๊าซไบโอมีเทนสำหรับเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบ
พร้อมทั้งออกแบบสร้างระบบส่งก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซให้มีความปลอดภัยในด้านวิศวกรรมและมาตรฐานการวางท่อก๊าซในชุมชนต้นแบบ
เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านเทคโนโลยีของระบบท่อส่งก๊าซและใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทน
เป็นพลังงานทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบอื่นๆ ของประเทศต่อไป” นายพิพัฒพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้
บริหารดอยคำยังกล่าวถึง “โครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบ”
อีกว่า เป็นโครงการเพื่อศึกษาระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) สำหรับทดแทนก๊าซหุงต้ม
(LPG) ในระบบท่อส่งก๊าซ
ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
โดยเล็งเห็นความสำคัญของการใช้พลังงานในชุมชน ที่ตั้งอยู่บริเวณรอบข้าง
โรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร
โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เป็นผู้ดำเนินโครงการร่วมมือกับ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ประสานงานกับผู้นำบ้านนางอยและบ้านโพนปลาโหล
ในการนำก๊าซ CBG ที่ได้ไปใช้ในภาคครัวเรือน
เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซหุงต้ม และนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างพอเพียง
สร้างความยั่งยืนในชุมชน ลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซหุงต้มจากต่างประเทศ
“ดอยคำ
ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของขยะและของเสียต่างๆ
จึงได้กำหนดแผนการดำเนินงานพัฒนาสังคมและชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงงานหลวงฯ ทั้ง 4 แห่ง
ซึ่งการมาร่วมมือกับ สนพ. ในครั้งนี้
นอกจากจะตอบโจทย์ในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว
ยังเป็นการช่วยเหลือชุมชนในเรื่องของลดค่าใช้จ่ายภายในตัวเรือน
อีกทั้งยังเสริมสร้างรายได้ให้วิสาหกิจชุมชนเพื่อให้สามารถมีกำลังดูแลชุมชนต่อไปได้
และยังเป็นการปูแนวทางพลังงานชุมชนเพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน
โดยเน้นให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเองในการร่วมกันดำเนินการบริหารจัดการพลังงานทดแทน
นำร่องต้นแบบให้มีการใช้งานในประเทศไทย” นายพิพัฒพงศ์ ย้ำ
ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์
มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากสถาบันฯ
ได้คิดค้นวิจัยในการดำเนินการผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ซึ่งเป็น ก๊าซได้พัฒนานำก๊าซชีวภาพมาปรับปรุงคุณภาพ
โดยการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์
(H2S) และความชื้นออกจากก๊าซชีวภาพ
เพื่อให้ได้ก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซ
NGV (Natural Gas for Vehicles) สามารถนำไปใช้สำหรับยานยนต์
และนำไปบรรจุถังสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน เพื่อทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ซึ่งกำลังประสบปัญหาด้านราคา และมีแนวโน้มจะขาดแคลนในอนาคต
“สำหรับสถานีผลิตและจ่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด
(CBG) หรือ
โรงจ่ายก๊าซ “ศิลาธรหิรันย์” ที่
โรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร
จำกัด เป็นการนำก๊าซชีวภาพซึ่งเกิดจากน้ำเสียจากกระบวนการผลิตแปรรูปมะเขือเทศ
มาผ่านกระบวนการของระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดด้วยเทคโนโลยีเมมเบรน (Membrane
System) สามารถผลิตได้ 262.81 kg Biomethane/day เมื่อเดินระบบเป็นเวลา 10 hr/day โดยมีราคาต้นทุน 12
บาทต่อกิโลกรัม สามารถมาทดแทนก๊าซหุงต้มได้ถึงประมาณ 75,000 กิโลกรัม/ปี (ที่การเดินระบบเป็นเวลา 10 hr/day) คิดเป็นมูลค่าถึง
1,668,000 บาท/ปี (คิดที่ราคา LPG 22.24 บาทต่อกิโลกรัม , ม.ค. 64) และจากการทดสอบก๊าซ
CBG พบว่ามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับก๊าซ LPG สามารถใช้ทดแทนกันได้
ซึ่งปัจจุบันได้แจกจ่ายให้กับชุมชนบ้านนางอยและบ้านโพนปลาโหล
ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) จำนวน 280 ครัวเรือน” ผศ.ดร.พฤกษ์ กล่าว
จากผลการดำเนินการดังกล่าว
ชาวบ้านจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนอัด จึงร่วมกันดำเนินการสานต่อโครงการฯ
ดังกล่าว
โดยวิสาหกิจชุมชนได้จัดตั้งคณะกรรมการมาบริหารจัดการสถานีผลิตและจ่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด
โดยเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการจัดการบริหารทั้งกระบวนการ
มีการกำหนดกฎระเบียบสำหรับผู้ใช้ก๊าซ มีทีมบริหารจัดการดูแลระบบ มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนพลังงานไบโอมีเทนนา
งอย-โพนปลาโหล เพื่อบริหารกองทุนก๊าซ CBG อย่างเป็นรูปธรรม
บริหารพลังงานทดแทนด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน
ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในสภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่มั่นคงในขณะนี้
ทำให้ชาวบ้านมีพลังงานทดแทนที่สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช้ สู่ เต่างอยโมเดล CBG
สร้างสุข พลังงานทดแทนเพื่อชุมชน
ในการนำก๊าซชีวภาพซึ่งเกิดจากน้ำเสียมาผลิตพลังงานเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด ทดแทน LPG
เพื่อใช้ในชุมชน
กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น