วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

“ประเพณี 12 เดือนของชาวล้านนา” (ตอนที่ 2)












ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และตำนาน กล่าวกันว่าเริ่มขึ้นในสมัยพระนางจามเทวี เมื่อพระองค์ได้ขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัยในราว พ.ศ.1205 กษัตริย์ในราชวงค์ของพระองค์สร้างความเป็นปึกแผ่นด้านพระพุทธศาสนาขยายวงกว้างออกไปและมีความเจริญมั่นคง จนกระทั่งถึง ปี พ.ศ.1899 ในรัชกาลของพระญากือนา แห่งราชวงค์มังราย พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกา ที่รุ่งเรืองอยู่ในกรุงสุโขทัยได้แพร่เข้ามาสู่อาณาจักรล้านนา พระญากือนา จึงแต่งราชทูตถือพระราชสาสน์ไปน้อมอาราธนาพระสุมนเถระ จากเมืองสุโขทัยมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเมืองเชียงใหม่ และได้พระราชทานที่ดิน ถวายเพื่อสร้างวัดแด่พระสุมนเถระ พระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดบุปผารามสวนดอกไม้” หรือ “วัดสวนดอก” ในปัจจุบัน สำหรับ “พระบรมธาตุดอยสุเทพ” อันเป็นศรีเมืองเวียงพิงค์เชียงใหม่ ก็โปรดให้สร้างในรัชสมัยของพระองค์ พระมหากษัตริย์องค์ต่อๆ มาก็ได้ทานุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เช่น รัชกาลพระญาสามฝั่งแกน มีพระสงฆ์ไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกามากกว่ายุคสมัยที่ผ่านมา รัชกาลพระญาติโลกราช ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดมหาโพธาราม หรือวัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ เป็นครั้งที่ 8 ของโลก เมื่อปี พ.ศ. 2020  เป็นต้น

 

กาลต่อมาแม้ในยุคที่พม่าปกครองเชียงใหม่และล้านนานับเป็นเวลา 200 กว่าปี การทางพระพุทธศาสนาก็มิได้เสื่อมสลายเนื่องจากต่างก็นับถือพุทธศาสนาเช่นกัน หากแต่รับเอาธรรมเนียมและ อิทธิพลด้านศิลปกรรมมาผสมผสาน ก่อเกิดวัฒนธรรมร่วมกับประเพณี พิธีกรรมล้านนา เช่น พิธีการบวชลูกแก้ว การนับถือพระอุปคุตแบบพม่า และการสร้างสิงห์ไว้หน้าประตูวัดเป็นต้น ล่วงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน

 

เดือนเกียงเหนือ (ราวตุลาคม) ประเพณีออกวัสสา หรือ ออกพรรษา คือวันสิ้นเทศกาลเข้าพรรษาสิ้นระยะไตรมาส (3 เดือน) ในวันขึ้น 15  ค่ำ เดือนเกี๋ยงเหนือ (เดือน ๑๑ ภาคกลาง) และในวันนี้ ทางสงฆ์จะจัดพิธีเรียกว่า “วันมหาปวารณา” คำว่า ปวารณา แปลว่า อนุญาตหรือยอมให้ว่ากล่าวถึงข้อที่ผิดพลาดล่วงเกินระหว่างที่จำพรรษาอยู่ด้วยกัน หลังจากวันแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยงไปแล้ว พระสงฆ์จะไปแรมคืนที่อื่นก็ได้ ก่อนวันออกพรรษาหนึ่งวันซึ่งตรงกับวันอาสาฬหบูชา ชาวบ้านจะทำอาหาร ขนม เพื่อนำไปทำบุญเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับเข้าพรรษา ส่วนในวันออกพรรษาจริงนั้น บางแห่งจัดทำบุญใส่บาตรเทโว คือ ในวันนี้พระสงฆ์จะทำพิธีทางศาสนาในพระอุโบสถตอนรุ่งอรุณ ซึ่งพอดีกับฟ้าสางพระอาทิตย์ขึ้น หมู่พระสงฆ์จะเดินออกจากพระอุโบสถ ซึ่งชาวบ้านสมมติกันว่า พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดา ระหว่างที่หมู่พระสงฆ์เดินเรียงมานี้ ชาวบ้านผู้ทำบุญก็จะทำพิธีใส่บาตรด้วย ข้าวสุกบ้าง ข้าวต้มบ้าง ขนมที่เตรียมไว้บ้าง ซึ่งปัจจุบันนิยมใส่บาตรด้วยข้าวสารอาหารแห้ง พอตอนสายๆ ชาวบ้านจะทำบุญที่เรียกว่า “ทานขันเข้า” ให้กับญาติที่ตายไปอีก

 

เดือนยี่ (ราวพฤศจิกายน) ประเพณีเดือนยี่เพง หรือ ยี่เป็ง คือ ประเพณีในเทศกาลวันเพ็ญ เดือน 12 ซึ่งแต่เดิมนั้นพิธีสำคัญของเทศกาลนี้อยู่ที่พิธีกรรม ตั้งธรรมหลวงหรือฟังเทศน์มหาชาติ ชาวบ้านจะประดับประดาวัดวาอาราม บ้านเรือน ด้วยประทีปโคมไฟ โคมระย้า ทำอุบะดอกไม้ไปถวายวัด ทำซุ้มประตูป่าด้วยต้นกล้วย อ้อย ก้านมะพร้าว เตรียมข้าวปลาอาหารเป็นพิเศษ เช่น ห่อนึ่ง แกงอ่อม แกงฮังเล ลาบ และขนมต่างๆ ไปทำบุญ บางแห่งมีพิธีกวน “ข้าวมธุปายาส” หรือ “ข้าวพระเจ้าหลวง” ถวายเป็นพุทธบูชาในตอนเช้ามืดของวันเพ็ญ เดือน 12 นี้ด้วย จากนั้นก็จะมีการทานขันข้าวหรือสำรับอาหารไปถึงบรรพชนคนตาย ถวายอาหารและกัณฑ์เทศน์แด่พระภิกษุสงฆ์และมีการฟังธรรมมหาชาติตั้งแต่เช้าถึงกลางคืน บางแห่งก็จะมีการสืบชะตาด้วย จะมีการปล่อยโคมลอย เรียกว่า "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" ในช่วงพลบค่ำจะมีการเทศน์ธรรมชื่อ "อานิสงส์ผาง ประทีส" และชาวบ้านจะมีการจุดประทีสหรือประทีป โคมหูกระต่าย โคมแขวน เป็นพุทธบูชากันทุกครัวเรือน สว่างไสว หนุ่มสาวก็จะมีการเล่นบอกไฟ แข่งขันบอกไฟ และปล่อยว่าวไฟ กันอย่างสนุกสนาน ปัจจุบันประเพณียี่เป็งหรือเทศกาลลอยกระทง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งประกอบด้วยการจัดตั้งให้เกิดขบวนแห่ที่อลังการ มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนา ในปีหนึ่งๆ มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ตั้งตารอคอยที่จะชมขบวนแห่ประเพณียี่เป็ง ซึ่งถ้ามองในแง่ของการท่องเที่ยวแล้วถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่าง

 

เดือน 3 (ราวเดือนธันวาคม) ประเพณีเกี่ยวข้าวเอาเฟือง เมื่อข้าวในนาที่ปลูกไว้สุกมีสีเหลืองทองเต็มท้องทุ่ง ก็จะเป็นฤดูเก็บ เกี่ยวซึ่งบางแห่งเรียกว่า "เกี่ยวข้าวเอาเฟือง" คือการเก็บเกี่ยวข้าวและฟางข้าวเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ การเกี่ยวข้าวเอาเฟืองนี้จะเริ่มกันตั้งแต่ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนเป็นต้น ไป ชาวบ้านจะเอามื้อหรือเอาวัน คือการลงแขกคือผลัดกันไปช่วยเกี่ยวข้าวในแปลงนาของเพื่อนบ้านให้เสร็จเป็นรายไป นอกจากนี้ยังมี “ประเพณีสู่ขวัญข้าว” เป็นพิธีกรรมในการเรียกขวัญข้าวหลังจากการเก็บเกี่ยวเพื่อเป็นการขอขมาและ ขอบคุณแม่โพสพหรือเทพีแห่งข้าว และยังเป็นพิธีที่เชื่อกันว่าจะทำให้ข้าวไม่หายและหมดไปจากยุ้งฉางเร็วอีกด้วย วันที่ทำพิธีโดยปกติถือเอาวันที่ขนข้าวขึ้นยุ้งเสร็จแล้ว หากไม่ทันก็อาจทำในวันรุ่งขึ้นก็ได้

 

เดือน 4 (ราวมกราคม) ประเพณีทานหลัวผิง ไฟพระเจ้า การทานหลัวผิงไฟพระเจ้า หรือ การถวายฟืนเพื่อจุดไฟผิงแก่ พระพุทธรูปนี้ เป็นพิธีที่จัดทำขึ้นในฤดูหนาว ทั้งนี้เพราะในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงเดือนสี่ (ประมาณเดือนมกราคม) อากาศหนาวมาก ประชาชนเห็นว่าพระเจ้าหรือพระพุทธรูปก็จะหนาวด้วย จึงได้ร่วมกันขนเอาฟืนมากองรวมกันเพื่อจุดไฟให้พระเจ้าได้ผิงไฟ เจ้าอาวาสจะให้ภิกษุสามเณรหรือศิษย์ทั้งหลายเข้าป่าหาฟืน โดยเลือกเอาไม้ฟืนที่มีสีขาว ให้ถ่านดี และไม่แตกเวลาติดไฟเพื่อใช้เป็นหลัวผิงไฟพระเจ้าชนิดไม้ที่นิยมมาก เช่น ไม้คนทา ไม้โมกมัน ไม้สะคร้อหรือไม้มะขาม เป็นต้น

 


เดือน 5 เหนือ (ราวกุมภาพันธ์) ประเพณีปอยลูกแก้ว/ปอยน้อย เป็นงานเฉลิมฉลองในประเพณีพิธีการบรรพชาหรือบวชเณร ซึ่งจะทำกันในเดือน 5,6,7,8 เหนือ คือราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม จุดประสงค์ของการจัดปอยลูกแก้ว หรือปอยบวช หรือ ปอยหน้อย ประเพณีการบวชสามเณรของชาติพันธุ์ ไทใหญ่ เรียกว่า ปอยส่างลอง ก็เพื่อลูกศิษย์วัดที่เรียกว่า ขะโยมวัด ที่คอยมาอยู่รับใช้ทำงานในวัดเป็นเวลาพอสมควร และได้เรียนจบการศึกษาภาคบังคับแล้วทางวัดและญาติผู้ใหญ่ก็จะร่วมกันจัดงานพิธีบรรพชาให้เป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา

 


เดือน 6 เหนือ (ราวมีนาคม) ประเพณีปอยหลวง เป็นการเฉลิมฉลองเสนาสนะที่สร้างขึ้นในวัด เช่น โบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ กำแพงวัด หรือ กุฏิ เป็นต้น การที่เรียกว่า ปอยหลวง เพราะเป็นงานใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลเป็นจำนวนมาก (ทั้งนี้มีกำหนดขึ้นมาภายหลังด้วยว่าการจะมีปอยหลวงได้นั้น ของที่จะถวายควรจะมีราคาตั้งแต่หนึ่งแสนบาทขึ้นไป ถ้าราคาต่ำกว่านั้นก็อนุญาตให้เพียงทำบุญถวายเท่านั้น) ในงานปอยหลวงก่อนวันงานจะมีพิธีถวายทานตุง (ธงปฏาก) โดยมีอานิสงส์จากความเชื่อว่าจะนำไปสู่สวรรค์ เมื่อถวายเสร็จจะปักตุงตามแนวถนนภายในชุมชน ตุง จึงเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของงานด้วย และก่อนจะเริ่มงานพิธีกรรมอีกอย่างหนึ่งก็คือ “พิธีอัญเชิญพระอุปคุต” ซึ่งถือว่าเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงฤทธิ์ปราบภัยมารได้ จึงอัญเชิญมาปกป้องคุ้มครองงานปอยหลวงให้สำเร็จไปด้วยดี โดยสมมติเอาก้อนหินแม่น้ำมาประดิษฐานไว้ที่หอชั่วคราว เรียกว่า หอพระอุปคุต เมื่อเสร็จงานแล้วจึงอัญเชิญกลับสู่สะดือทะเล งานปอยหลวง มักจะนิมนต์ หัววัด คือศรัทธาต่างวัดต่างๆ มาร่วมงาน และส่วนมากจะนำช่างฟ้อน เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิงและตีกลองสะบัดไชย เป็นต้น มาร่วมขบวนแห่ครัวทานและแสดงในงานด้วย ชาวล้านนาถือว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ดังคำโบราณกล่าวว่า “เป็นงานบุญกินใหญ่ทานหลวง”



กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์