วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เปิดปมปัญหากองทุนพัฒนาไฟฟ้า เม็ดเงินมหาศาลมากกว่าปีละ 300 ล้าน ตั้งแต่เริ่มก็พบปัญหาการใช้จ่ายเงินเรื่อยมา แล้วใคร?จะเป็นคนรับผิดชอบ


(1) เปิดปมปัญหากองทุนพัฒนาไฟฟ้า  

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่มีเม็ดเงินมหาศาลมากกว่าปีละ 300 ล้าน เพื่อพัฒนาพื้นที่ อ.แม่เมาะ และอีก 12 อำเภอของ จ.ลำปาง ให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ต้องสะดุดลงเพราะไม่มีกรรมการในส่วนของภาครัฐ และไม่มีการขับเคลื่อนใดๆในเรื่องนี้

เกิดอะไรขึ้น ?

ตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา “ลานนาโพสต์” ได้นำเสนอปัญหากองทุนพัฒนาไฟฟ้า ที่มีงบประมาณจำนวนมาก แต่คุณภาพชีวิตของชาวบ้านแม่เมาะ ก็ยังย้อนแย้งกับการที่มีเงินทุนสนับสนุน  จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าเงินกองทุนฯ ก้อนนี้ ถึงมือชาวบ้านจริงหรือไม่ หรือตกไปอยู่ในมือใคร  รวมไปถึงโครงการที่ทางคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) ได้อนุมัติไปนั้น ชาวบ้านได้ประโยชน์อย่างไร

จากการตรวจสอบโครงการกองทุนฯ ตั้งแต่ปี 2555-2560 รวม 6 ปี พบว่ามีการอนุมัติโครงการมากถึง 3,800 โครงการ งบประมาณเกือบ 2,000 ล้านบาท โดยงบประมาณกว่าครึ่งหนึ่งนำไปใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ส่วนการใช้จ่ายที่มากเป็นอันดับที่ 2 นั้น คือการนำไปซื้อวัว หมู ไก่ กบ เป็นต้น  และจากการลงพื้นที่สำรวจยังพบว่า สิ่งก่อสร้างหลายแห่งที่ก่อสร้างโดยงบประมาณกองทุนฯ ไม่ได้ใช้งานให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์  มีหลายสถานที่ถูกปล่อยทิ้งร้างจำนวนมาก


สรุปการใช้งบประมาณกองทุนฯ ปี 58-60


ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ถึงการไม่สมเหตุสมผลของการใช้งบประมาณกองทุน เนื่องจากไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ อ.แม่เมาะ รวมถึงคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ 5 ตำบลของ อ.แม่เมาะ ก็ไม่ได้ดีขึ้นไปจากเดิม

ในเรื่องนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางในสมัยนั้น คือ นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ได้เคยให้สัมภาษณ์กับลานนาโพสต์ว่า โครงการกองทุนที่อนุมัติล้วนแต่เป็นความต้องการของชาวบ้านจริงๆ เมื่อชาวบ้านผ่านการประชาคมว่าต้องการหมู ต้องการไก่  หรือสาธารณูปโภค ผู้ว่าฯก็ไม่สามารถขัดได้


นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ให้สัมภาษณ์ลานนาโพสต์


ด้าน นายบรรพต ธีระวาส  อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ เคยให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งยังอยู่ในตำแหน่งว่า การใช้จ่ายเงินต่างๆ ควรมีขบวนการเข้ามาตรวจสอบ โดยกำหนดให้แต่ละโครงการมีตัวชี้วัดที่เด่นชัด ทำแล้วมีความยั่งยืน ไม่ใช่จบเป็นปีๆไปแล้วมาขอเงินกันอีก  ควรเริ่มตรวจสอบตั้งแต่เริ่มโครงการไปจนจบ เพื่อนำตัวอย่างความล้มเหลวมาปรับปรุงไม่ให้เกิดขึ้นอีก วันหนึ่งโรงไฟฟ้าก็ต้องหยุดไป ในพื้นที่ก็ต้องเจริญต่อไปไม่ใช่หยุดหรือหายไปกับโรงไฟฟ้า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ชาวแม่เมาะจะต้องกำหนดเอง


นายบรรพต ธีระวาส  อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ 


และจากการลงพื้นที่ เจาะลึกเบื้องหน้าเบื้องหลังเงื่อนงำของกองทุนไฟฟ้า   “ลานนาโพสต์” พบหลายเรื่อง ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้กองทุนไฟฟ้า เช่น การก่อสร้างสะพานคอนกรีตขนาดยาว 5 เมตร โผล่ขึ้นกลางทุ่ง เป็นสะพานเลี่ยงหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรแออัดในหมู่บ้าน ต.นาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เชื่อมระหว่างบ้านสบจาง หมู่ 6  และบ้านทุ่งเลางาม หมู่ 9 ต.นาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง


สะพาน 8 ล้าน

สะพานก่อสร้างเสร็จเมื่อกลางปี 2560 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างจำนวน 7,950,000 บาท   แต่หลังจากก่อสร้างเสร็จได้เพียงไม่นาน สะพานเกิดชำรุดบริเวณทางเชื่อมต่อระหว่างสะพานกับถนนทรุดลงไปประมาณ 15 เซนติเมตร  นอกจากนั้นก็ยังไม่ได้เชื่อมต่อหรือเป็นเส้นทางรถวิ่งได้ปกติ เหมือนถนนหนทางอื่นๆแต่อย่างใด เพราะสะพานวางอยู่บนเส้นทางถนนดิน  อีกทั้งยังมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สร้างสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติบ้านเวียงสวรรค์ หมู่ 9 ต.แม่เมาะ งบประมาณ 1 ล้านบาท แต่ทำเสร็จแล้วกลายเป็นสวนสุขภาพร้างที่มีหญ้าขึ้นรกรุงรัง


สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติบ้านเวียงสวรรค์ 

จนกระทั่งในปี 2561 ได้มีการเปลี่ยนมือ โดยมีผู้ว่าฯ ทรงพล สวาสดิ์ธรรม เข้ามารับช่วงต่อในการดูแลบริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า  เนื่องจากนายสุวัฒน์ พรหมสุวรรณ ผู้ว่าฯ คนเก่าได้เกษียณอายุราชการลง  ทำให้เริ่มมีความหวังขึ้นอีกครั้ง ว่าการใช้จ่ายงบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจะนำมาใช้อย่างมีคุณภาพ

แต่ความหวังนั้นก็ยังล่องลอยอยู่ในสายลม

รอติดตามต่อตอนที่ 2 .....

 

 

 

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์