วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564

จ.ลำปางส่งมอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED)จากสภากาชาดไทย ให้กับ 13 อำเภอติดตั้ง เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

 



วันที่ 22 มิถุนายน 2564 เวลา 09.30 น. นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในพิธีรับมอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) จำนวน 14 เครื่อง จากสภากาชาดไทย พร้อมทั้งส่งต่อให้แต่ละอำเภอติดตั้งในสถานที่ต่างๆ ตามความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาลได้ ณ ห้องประชุมสุรินทร์ - สมพร ชั้น 6 อาคารนวมินทรราชประชาภักดี โรงพยาบาลลำปาง โดยมี นายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ โสภณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำปาง นายอำเภอ ผู้แทนแต่ละอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีฯ



นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันคร่าชีวิตคนไทย 54,000 คนต่อปี (เฉลี่ย 6 คนต่อชั่วโมง) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดอันดับ 3 รองจากมะเร็ง และอุบัติเหตุ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือ ภาวะที่หัวใจหยุดการส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายอย่างทันที ผู้ที่เกิดอาการจะหมดสติภายใน 10 วินาที และเนื้อสมองจะเริ่มเสียหายภายในระยะเวลา 4 นาทีจากอาการขาดเลือด ความน่ากลัวของภาวะอาการนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโรคหัวใจหรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ และไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า และในปัจจุบันมีการติดตั้งเครื่อง AED ในที่สาธารณะที่มีความเสี่ยง เช่น สถานีรถโดยสาร สนามบิน บนเครื่องบิน บนรถไฟ สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว หน่วยบริการของราชการ ในสถานที่เหล่านี้จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่สามารถใช้เครื่อง AED ได้และต้องพร้อมใช้ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้



สภากาชาดไทยได้จัดทำโครงการบริจาคเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) จำนวน 1,100 เครื่อง ซึ่งได้รับบริจาคจากการจัดกิจกรรมวิ่งกระตุกหัวใจ 125 ปี ของสภากาชาดไทยสำหรับส่งต่อให้ทุกจังหวัดติดตั้ง ดูแลบำรุงรักษาในส่วนภูมิภาค 76 จังหวัดทั่วประเทศได้ใช้ยามฉุกเฉิน และได้ส่งมอบไปแล้ว 11 จังหวัด จำนวน 236 เครื่อง โดยจังหวัดลำปางได้รับจัดสรร จำนวน 14 เครื่อง

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย การอบรมวิทยากร ครู ก. การให้ความรู้ในเรื่องกระบวนการช่วยฟื้นคืนชีพ และความรู้ในการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ(AED) พร้อมการสอนสาธิต และแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ การช่วยฟื้นคืนชีพ เพื่อเป็นประโยชน์และนำกลับไปใช้ได้ในชีวิตจริงสำหรับทุกคน หากเกิดเหตุการณ์สามารถทราบจุดที่เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ(AED) ติดตั้งและช่วยผู้เกิดเหตุได้ทันเวลา



 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์