วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564

12 วัดในลําปาง...ที่ไม่ควรพลาด! (ตอนที่1)

 


ช่วงนี้ยังคงต้องเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่กับบ้าน เพื่อร่วมด้วยช่วยกันหยุดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ถึงกระนั้น “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลำปาง” ไม่หยุดหาคอนเท็นต์ดีๆ อย่าง 12 วัดในลำปาง...ที่ไม่ควรพลาด! มาฝากพี่น้องชาวลำปางได้ร่วมภาคภูมิใจ และในขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้แก่ผู้ที่อาจจะมีโอกาสไปเยือนถิ่นเมืองรถม้าในอนาคตได้ทราบข้อมูลดีๆ เมื่อเห็นดังนี้แล้วต้องขออนุญาตนำมาบอกเล่าต่อพร้อมกับเพิ่มเติมข้อมูลรวมถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจของวัดต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าวัดหลายๆ แห่งจะเคยถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งแล้วก็ตาม

 


ประเดิมศาสนสถานแห่งแรก “วัดพระธาตุลําปางหลวง” ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนเนินสูง มีการจัดวางผังและส่วนประกอบของวัดสมบูรณ์แบบที่สุด มีสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมต่างๆ บริเวณพุทธาวาสประกอบด้วย องค์พระธาตุลำปางหลวง เป็นประธาน มีบันไดนาคนำขึ้นไปสู่ซุ้มประตูโขง ถัดซุ้มประตูโขงขึ้นไปเป็น วิหารหลวง บริเวณทิศเหนือขององค์พระธาตุมีวิหารบริวารตั้งอยู่คือ วิหารน้ำแต้ม และ วิหารต้นแก้ว ด้านตะวันตกขององค์พระธาตุประกอบด้วย วิหารละโว้ และ หอพระพุทธบาท ด้านใต้มี วิหารพระพุทธ และ อุโบสถ ทั้งหมดนี้จะแวดล้อมด้วยแนวกำแพงแก้วทั้งสี่ด้าน นอกกำแพงแก้วด้านใต้มีประตูที่จะนำไปสู่เขตสังฆาวาส ซึ่งประกอบด้วยอาคาร หอพระไตรปิฎก กุฏิประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า อาคารพิพิธภัณฑ์ และ กุฏิสงฆ์

 

ในทางประวัติศาสตร์นครลำปางว่างจากผู้ครองนคร และเกิดความวุ่นวายขึ้น สมัยนั้นพม่าเรืองอำนาจได้แผ่อิทธิพลปกครองอาณาจักรล้านนาไว้ได้ทั้งหมด พม่าได้ยึดครองนครเชียงใหม่ ลำพูน โดยแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พม่า ท้าวมหายศ เจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง โดยได้มาตั้งค่ายอยู่ภายใน วัดพระธาตุลำปางหลวง ครั้งนั้น หนานทิพย์ช้าง ชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันอยู่อำเภอห้างฉัตร) วีรบุรุษของชาวลำปาง ได้รวบรวมพลทำการต่อสู้ทัพเจ้ามหายศ โดยลอบเข้ามาในวัด และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย แล้วตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์ ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม เจ้าผู้ครองนครลำปาง และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง เจ้าเจ็ดตน ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน

 


มาต่อกันที่ “วัดพุทธบาทสุทธาวาส เป็นหนึ่งในวัดที่ unseen ของลำปางหรือของไทยก็ว่าได้ ความแปลกของวัดนี้ คือมีองค์เจดีย์น้อยใหญ่วางกระจัดกระจายอยู่บนยอดหินตามแนวสันเขาหินปูนฝั่งด้านตะวันตกของอำเภอแจ้ห่ม ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 800 เมตร และสูงจากอำเภอแจ้ห่มประมาณ 500 เมตร แน่นอนว่าบนวัดนี้สามารถเห็นวิวทิวทัศน์ Landscape ของอำเภอแจ้ห่มได้กว้างถึง 180 องศา เลยทีเดียว ดังนั้นใครที่เป็นสาย Landscape ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง ส่วนที่ไปที่มาของการสร้างเจดีย์นี้ก็เกิดจากแรงศรัทธาของชาวบ้านและเหล่าพระสงฆ์ที่ร่วมกัน เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระราชสมภพครบ 200 ปี หรือเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2547 นอกจากนี้ วัดพระบาทสุทธาวาสมีหลายชื่อมากๆ แต่เดิมชื่อ วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ และก่อนหน้านั้นก็มีอีกชื่อว่า วัดพระพุทธบาทปู่ผาแดง

 


วัดแห่งที่ 3 ตั้งอยู่ที่ตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา มีชื่อว่า วัดเสลารัตนาภัทราราม” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดไหล่หิน หรือ วัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน และในบางครั้งชาวบ้านรุ่นก่อนๆ เรียกว่า วัดป่าหิน หรือ วัดม่อนหินแก้ว ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ตำนานของวัดกล่าวไว้ว่า ช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 ในสมัยของพระมหาป่าเกสรปัญโญ เป็นระยะที่มีการก่อสร้างและบูรณะเสนาสนะต่างๆ มากมาย เนื่องจากท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีผู้นับถือมากมาย เล่ากันว่าครั้งที่ท่านธุดงค์ไปถึงเชียงตุง ท่านได้มอบกะลาซีกหนึ่งให้ชายคนหนึ่ง จากนั้นท่านก็กลับมาลำปาง โดยไม่ได้บอกชายผู้นั้นว่าท่านอยู่ที่ใด ต่อมาชายคนนั้นได้ตามมาหาท่านจนพบที่วัดไหล่หิน แล้วนำกะลามาประกอบเข้าเป็นหนึ่งเดียว ชายคนดังกล่าวเกิดความศรัทธาแรงกล้า ได้ขอบูรณะวัดและก่อสร้างวิหารหลังที่เห็นปัจจุบันขึ้นในปี พ.ศ. 2226


ภายในวัดแห่งนี้มีพระวิหารเก่าแก่ฝีมือช่างเชียงตุง เป็นศิลปะแบบล้านนาไทย ประดับลวดลายงดงามทั้งหลังวัดโบราณที่เพียงแค่เห็นครั้งแรกจะทำให้คุณรู้สึกขนลุกกับความขรึมขลังที่สัมผัสภายใน ที่นี่มี พระวิหาร เก่าแก่ฝีมือช่างเชียงตุง สร้างขึ้นตามศิลปะแบบล้านนาไทยประดับลวดลายงดงามทั้งหลังโดยเฉพาะส่วนหน้าบันและซุ้มประตูมีการก่ออิฐถือปูนประดับรูปสัตว์ตามแบบศิลปะล้านนาแท้ ภายในวิหารนอกจากจะมีพระประธานแล้ว ยังมีรูปปั้น พระมหาเกสระปัญโญภิกขุ ขนาดเท่าตัวจริง ซึ่งปั้นด้วยฝีมือของท่านเอง นอกจากนี้ พระเจดีย์ ของวัดไหล่หินยังก่อสร้างตามแบบศิลปะล้านนาซึ่งได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับคันทวยที่โรงธรรมก็ยังคงเป็นศิลปะล้านนาเช่นกัน กล่าวคือเป็นรูปคล้ายแผ่นไม้สามเหลี่ยมขนาดใหญ่แล้วฉลุลายให้โปร่งลอยตัวเป็นรูปต่าง ๆ กันออกไป เช่น รูปนาค รูปหนุมาน รูปลายเครือเถา


วัดที่ไม่ควรพลาดในอันดับที่ 4 ได้แก่ “วัดศรีรองเมือง” ตั้งอยู่ในตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง สร้างโดยพ่อเฒ่าจองตะก่าอินต๊ะ คหบดีชาวไทใหญ่ ที่เข้ามาทำไม้ในเมืองลำปาง ของบริษัท บอมเมย์เบอร์ม่า สร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2447 ตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุที่มีอาชีพตัดไม้ โค่นต้นไม้ในป่า จึงได้สร้างวัดศรีรองเมืองนี้ได้เพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจ ขอขมาต่อธรรมชาติ  โดยใช้ช่างฝีมือชาวพม่าในการบูรณะจากวัดเดิมที่มีอยู่ก่อน ชื่อวัดศรีรองเมืองสะกดเพี้ยนมาจากชื่อเดิมที่เรียก วัดศรีสองเมือง

 


เอกลักษณ์อันโดดเด่นภายในวัดแห่งนี้คือ วิหาร มีลักษณะแบบวิหารไทใหญ่ในภาคเหนือซึ่งมีลวดลายสลักปิดทองและเครื่องไม้ประดับที่สวยงาม วิหารเป็นอาคาร 2 ชั้นมีหลังคาซ้อนกันแบบพม่า ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนชั้นบนทำด้วยไม้ ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานที่ทำจากไม้ขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางของเรือนยอด บนวิหารที่เป็นเรือนไม้นั้นมีเสากลมใหญ่เรียงรายกันหลายต้น แต่ละต้นประดับประดาด้วยลวดลายจำหลักไม้และกระจกสีแวววับสวยสดงดงาม พระพุทธรูปบัวเข็ม เป็นพระประธานของวิหาร แกะสลักจากไม้ศิลปะพม่า มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ว่า สมัยก่อนมีไม้สักท่อนขนาดมหึมาไหลมาตามแม่น้ำวังแล้วมาติดอยู่ที่ท่าน้ำหลังวัดศรีรองเมือง ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันนำท่อนไม้สักมาเก็บรักษาไว้ที่วัดและกราบไหว้กัน จนวันหนึ่งมีฝนตกฟ้าร้องลมพัดแรงมากปรากฏว่าเทียนที่จุดไว้บนท่อนไม้ไม่ยอมดับ ศรัทธาชาวบ้านพร้อมด้วยพ่อเฒ่าจองตะก่าอินต๊ะจึงได้ให้ช่างมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปแบบพม่าแล้วจึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วิหารวัด นอกจากนี้ภายในวัดยังมีสิ่งก่อสร้างที่สวยงามอีกมากมาย เช่น เว็จกุฏี หรือ ส้วมพระ ที่มีลักษณะแปลกตาและงดงามตามศิลปะการก่อสร้างของไทยใหญ่ เว็จกุฏีนี้ตั้งอยู่ห่างจากแนวโบราณสถานเดิม (วิหาร) ประมาณ 15 เมตร โดยตั้งอยู่ชิดกำแพงวัดทางด้านทิศตะวันตก ในปี พ.ศ. 2544 ได้มีหนังสือขอให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเว็จกุฏีแห่งนี้เพิ่มเติม

 


ยังอยู่ในเขตอำเภอเมืองลำปาง แต่ถัดาที่ตำบาลเวียงเหนือ “วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม” ตามตำนานกล่าวว่า นางสุชาดา ได้พบแก้วมรกตในแตงโม (หมากเต้า) และนำมาถวายพระเถระรูปนั้นจึงจ้างช่างให้นำมรกตนั้นไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปซึ่งก็คือ พระแก้วดอนเต้า ซึ่งต่อมาได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวงสาเหตุจากตำนานบอกว่า มีผู้ไปฟ้องเจ้าเมืองลำปางในขณะนั้นว่า พระเถระและนางสุชาดาเป็นชู้กัน เจ้าเมืองลำปางจึงให้จับนางสุชาดาไปประหารชีวิต ส่วนพระเถระองค์นั้นทราบข่าวก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปหนีไป โดยได้นำไปฝากไว้ที่ วัดพระธาตุลำปางหลวง จนถึงปัจจุบัน ส่วนสถานที่ตั้งบ้านของนางสุชาดาก็ได้มีผู้มีจิตศรัทธาในคุณงามความดีของนาง บริจาคเงินสร้างวัดขึ้นชื่อ “วัดสุชาดาราม” อย่างไรก็ตามมีบางสันนิษฐานบอกว่าเนื่องจากวัดพระแก้วดอนเต้า และ วัดสุชาดาราม นั้นร้างลง ขณะเดียวกันก็มีการสันนิษฐานเพิ่มว่า น่าจะเป็นเพราะย่านนี้เป็นสวนหมากเต้า และเป็นที่ดอน จึงชื่อพระธาตุว่า พระบรมธาตุดอนเต้า และชื่อวัดว่า วัดพระธาตุดอนเต้า และต่อมาเมื่อมีการประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระแก้วดอนเต้า

 


วัดพระแก้วดอนเต้า เป็นที่ตั้งของพระบรมธาตุดอนเต้า ซึ่งเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า มณฑปศิลปะพม่า ลักษณะงดงาม ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ และวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งมีอายุเก่าแก่ พอๆ กับการสร้างวัดนี้ นอกจากนี้ยังมีวิหารหลวงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติล้านนา และวิหารพระเจ้าทองทิพย์

 


วัดในสายหมอกอีกแห่งของถิ่นเมืองรถม้าคือ “วัดพระธาตุดอยพระฌาน” เป็นวัดที่มีพระธาตุเก่าแก่มีมาแต่โบราณ ก่อสร้างด้วยศิลปะอ่อนช้อยแบบล้านนาดั้งเดิม ภายในวัดมีองค์พระธาตุเก่าแก่สีขาวยอดฉัตรสีทองอายุกว่า 100 ปี เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเมืองลำปาง แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ตั้งอยู่บริเวณแนวภูเขาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเทศบาลตำบลป่าตันนาครัว อยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ 5 ตำบลป่าตัน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ซึ่งมีเขตติดต่อระหว่าง อำเภอแม่ทะ อำเภอเกาะคา และอำเภอสบปราบ บริเวณโดยรอบมีทัศนียภาพที่สวยงามและมีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของอำเภอแม่ทะที่หาดูได้ยาก เป็นสถานที่ที่มีความสงบและร่มเย็น โดยทุกปีประมาณเดือนพฤษภาคม จะมี ประเพณีขึ้นดอยพระฌาน พุทธศาสนิกชนชาวตำบลป่าตันรวมถึงตำบลใกล้เคียง จะพากันเดินขึ้นดอยเพื่อไปสัการะพระธาตุบนยอดเขา พร้อมกับจุดบั้งไฟบูชาพระธาตุและจัดแข่งขันบั้งไฟ อีกทั้งยังจัดงาน “ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ” วัดพระธาตุดอยพระฌาน ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี หากใครสนใจก็เตรียมตัวให้พร้อม แล้ววางแผนไปเที่ยวกันไว้เลย

 

ผ่านไปแล้ว 6 วัดในลำปาง...ไม่ควรพลาด สัปดาห์หน้าจะพาท่านผู้อ่านไปพบกับวัดที่มีประวัติและเรื่องราวน่าสนใจซึ่งถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของพี่น้องชาวลำปางอีก 6 แห่ง อย่าลืมติดตามนะคะ...ขอให้สุขภาพแข็งแรง ห่างไกลจากเชื้อโรคร้ายด้วยค่ะ

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง

 


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์