วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564

หน่วยกู้ภัยสว่างนครลำปาง ทีม SCOT ลำปาง ผู้ที่มีความเสี่ยงไม่น้อยกว่าบุคลากรทางการแพทย์ รับศพผู้เสียชีวิตประกอบพิธีฌาปณกิจ

 



          การระบาดของไวรัสโควิด-19 จ.ลำปาง ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็ยังถือว่าทรงตัวในระดับที่ควบคุมสถานการณ์ได้ แม้ผู้ป่วยในจังหวัดจะดูมียอดสะสมสูง จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 64 ถึง วันที่ 4 สิงหาคม 64 รวมผู้ป่วยจำนวน 1,121 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว  745 ราย คงเหลือรักษาตัวอยู่ 371 ราย  โดยมียอดผู้เสียชีวิตในรอบนี้ 5 ราย  หากนับสะสมตั้งแต่ระลอกของเดือนเมษายน 64  จ.ลำปางมีผู้เสียชีวิตสะสมแล้ว 7 ราย 

          สำหรับผู้เสียชีวิต 5 ราย ระลอกเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 64  คือ

รายที่ 1 หญิง อายุ 56 ปี ชาว อ.งาว จ.ลำปาง เดินทางมาตามโครงการรับคนลำปางกลับบ้านวันที่ 16 กรกฎาคม 64 และเสียชีวิตในวันที่ 26 กรกฎาคม 64 รวมเวลาการรักษา 10 วัน

          รายที่ 2 หญิง อายุ 66 ปี ชาว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง อาชีพขายล็อตเตอรี่ อยู่กรุงเทพฯ เดินทางมาตามโครงการรับคนลำปางกลับบ้านวันที่ 23 กรกฎาคม 64  และเสียชีวิตในวันที่ 31 กรกฎาคม 64 รวมเวลารักษา 9  วัน

          รายที่ 3 ชาย อายุ 44 ปี ชาว อ.เถิน จ.ลำปาง อาชีพขับรถส่งสินค้า มีโรคประจำตัวโรคอ้วน น้ำหนัก 125 ก.ก. เดินทางกลับลำปางตามโครงการรับคนลำปางกลับบ้าน วันที่ 23 กรกฎาคม 64  และเสียชีวิตในวันที่ 1 สิงหาคม 64  รักษาตัวได้ 10 วัน

          รายที่ 4 ชาย อายุ 46 ปี ชาว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง อาชีพพนักงานโรงงาน จ.สมุทรปราการ เข้ารักษาที่โรงพยาบาลวังเหนือวันที่ 9 กรกฎาคม 64 ตามโครงการรับคนลำปางกลับบ้าน มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการดื่มสุรา จนอาการหนักได้ส่งตัวรักษาต่อที่โรงพยาบาลลำปาง เสียชีวิตในวันที่ 2 สิงหาคม 64 รวมเวลารักษาตัวอยู่ 25 วัน

          และรายที่ 5  หญิง อายุ 69 ปี  ภูมิลำเนา จ.เชียงใหม่ พักอยู่ย่านสถานีขนส่งผู้โดยสาร ต.สบตุ๋ย อ.เมืองลำปาง  มีอาการเป็นลมหมดสติ ญาติผู้ป่วยปฏิเสธให้ข้อมูลความเสี่ยง  หน่วยกู้ภัยสว่างนครลำปาง และกู้ชีพโรงพยาบาลลำปาง ได้ทำการ CPR และนำส่งโรงพยาบาลลำปางก่อนจะเสียชีวิต  ผลการชันสูตรศพทราบหลังการเสียชีวิต 3 วัน พบเชื้อโควิด-19



          ซึ่งผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทุกราย จะทำไปทำพิธีฌาปณกิจศพทันที ที่สุสานร่องสามดวง ต.บ่อแฮ้ว อ.เมืองลำปาง  โดยผู้ที่ทำหน้าที่เหล่านี้ คือ ทีม SCOT หน่วยกู้ภัยสว่างนครลำปาง นั่นเอง

ทีม  SCOT หรือ Special Covid-19 Operation Team คือ ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินพิเศษ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทีมสนับสนุนสำรองให้กับการดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ในการนำส่งผู้ป่วยหรือผู้สงสัยที่จะติดเชื้อ Covid-19 รวมถึงผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วไป ในสถานการณ์การระบาดของโรค ในกรณีที่ระบบการปฏิบัติงานของจังหวัด ไม่มีชุดปฏิบัติการออกปฏิบัติการฉุกเฉินได้ และเพื่อให้การปฏิบัติการฉุกเฉินสามารถดำเนินไปได้ไม่เกิดการหยุดชะงัก  อยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยขั้นสูงสุด

ซึ่งทีมงานชุดนี้ ถือว่าเป็นทีมที่ “มีความเสี่ยง”ไม่น้อยกว่าบุคลากรทางการแพทย์




นางนพวรรณ ธนะสุวัตถิ์ ประธานสมาคมสว่างนครลำปางธรรมสถาน (เขต 9) เปิดเผยว่า  หน่วยกู้ภัยสว่างนครลำปาง ทีม SCOT ของ จ.ลำปาง ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีอยู่  1 ทีม ได้รับหน้าที่จากสถานบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยจะต้องดำเนินการทุกอย่าง ในการรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 รวมไปถึงนำร่างผู้เสียชีวิตไปทำการฌาปณกิจ   การดูแลความปลอดภัยของทีมเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งจะได้มีการอบรมร่วมกับทีม SCOT ทีมสาธารณสุขจังหวัดลำปาง และโรงพยาบาลลำปาง  ส่วนอุปกรณ์ต่างๆทางสมาคมดำเนินการจัดหาเองทั้งหมด  นอกจากนั้นหากจังหวัดแจ้งขอให้รับผู้ป่วยโควิด-19 หรือผู้ที่หายป่วยแล้วส่งกลับบ้านเราก็จะไปรับส่งให้เป็นภารกิจเสริม

          เจ้าหน้าที่กู้ภัยในทีมของลำปาง มีประมาณ 50 คนที่ผ่านการอบรมแล้ว สามารถสลับสับเปลี่ยนทีมได้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน  เช่น ล่าสุดเด็กในทีมต้องเข้ากักตัวทั้งหมด 2 คน และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอีก 2 คน เนื่องจากกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 จากกรณีการช่วยเหลือผู้ป่วยเคสหนึ่ง และผู้ป่วยได้เสียชีวิต  จากนั้นได้มีการชันสูตรศพ ทราบผลติดเชื้อโควิด-19 หลังจากเสียชีวิต 3 วัน ซึ่งมีการนำศพไปตั้งสวดที่วัดแล้ว  ทางทีม SCOT ก็ได้ดำเนินการนำศพมาทำการฌาปณกิจทันทีในช่วงบ่ายของวันที่ 2 สิงหาคม 64  เจ้าหน้าที่กู้ชีพที่ออกเหตุในเคสนั้นจึงต้องโดนกักตัว 14 วัน ส่วนทีมงานกู้ภัย 2 คนกักตัว 5 วัน เนื่องจากแต่งชุดป้องกันในระดับหนึ่ง และส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งผลในครั้งแรกออกมาแล้วเป็นลบ แต่ต้องรอตรวจซ้ำในครั้งที่ 2




          ประธานสมาคมสว่างนครลำปางฯ กล่าวอีกว่า กรณีเคสนี้ปฏิเสธการให้ข้อมูลทุกอย่าง และไม่พูดความจริง  เจ้าหน้าที่กู้ชีพและกู้ภัยจึงให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด หากมีการแจ้งประวัติว่ามีความเสี่ยง จะต้องแจ้งทางกู้ชีพโรงพยาบาลลำปาง ซึ่งเป็นทีม A เข้าดำเนินการ เนื่องจากมีอุปกรณ์มีความพร้อมมากกว่า

“ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ต้องช่วยเหลือกัน  ขอความร่วมมือผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยทุกคนอย่าปกปิดข้อมูลเลย ไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย  ทั้งตัวผู้ป่วยเอง รวมถึงเจ้าหน้าที่ก็เสียกำลังกาย กำลังใจในการทำงาน และยังเกิดความเสี่ยงไปอีกหลายครอบครัว”

          การทำงานของเจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ชุดPPEที่ใส่ป้องกันโควิด-19 ก็เริ่มขาดแคลนแล้ว ใส่ครั้งเดียวก็ต้องทำลายทิ้งทันที แม้จะมีงบประมาณก็ไม่สามารถหาซื้อได้ หากใครมีชุดสต๊อกไว้ต้องการขายหรือต้องการบริจาค สามารถติดต่อมาที่สมาคมสว่างนครลำปางธรรมสถานได้  ที่เบอร์โทรศัพท์ โทร.054-221666, 054-221888   นางนพวรรณ กล่าว.




         

 

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์