วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ผ้าขาวม้า “หลงป่า” กลุ่มน้ำมอญแจ้ซ้อน คว้ารางวัลความคิดสร้างสรรค์ ปี 64


อีกหนึ่งข่าวดีที่สร้างรอยยิ้มและความภูมิใจให้แก่ชาวลำปาง นอกเหนือสองรางวัลจากสองหน่วยงานภายในเมืองรถม้าแห่งนี้อย่าง อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน และ พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี ที่คว้ารางวัลสาขาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และ สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ จากโครงการ “ประกวดรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย” ครั้งที่
13 ไปหมาดๆ นั่นก็คือ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มน้ำมอญแจ้ซ้อน ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จังหวัดลำปาง เจ้าของผลงาน “หลงป่า” คว้ารางวัลการประกวดลายผ้าขาวม้า "นวอัตลักษณ์" ประจำปี 2564 สาขาความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด

 

ถือโอกาสนี้พาไปทำความรู้จัก กลุ่มน้ำมอญแจ้ซ้อน กันสักหน่อย ตามข้อมูลบันทึกเอาไว้ว่า “กลุ่มน้ำมอบแจ้ซ้อน” จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2539 จากการรวมกลุ่มของแม่บ้านบ้านศรีดอนมูล ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ที่มีความสนใจและรักงานทอผ้าแบบพื้นเมือง ซึ่งหลายคนก็มีพื้นฐานการทอผ้าอยู่บ้างแล้วอีกทั้งอุปกรณ์และกี่ทอผ้าก็มีกันเกือบทุกบ้าน จึงคิดที่จะใช้เวลาว่างหลังการทำงานมาสร้างรายได้เสริมจึงช่วยกันคิดและออกแบบลวดลายจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบต่อมาจากรุ่นปู่รุ่นย่าสร้างสรรค์เป็นผลงานผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ นำออกมาจำหน่ายในช่วงเทศกาลตามสถานที่ท่องเที่ยวและหน่วยงานราชการ จนเป็นที่ถูกตาต้องใจของผู้พบเห็นและได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเป็นสินค้าโอทอปประจำจังหวัดลำปาง

 


สำหรับ ผ้าทอน้ำมอญ” ถือเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาทอผ้าที่เป็นที่ภาคภูมิใจจากชาวบ้านแจ้ซ้อน อำเภอแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง ที่เกิดจากการนำวัสดุจากธรรมชาติมาผลิตเป็นผ้าทอที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ มีกระบวนการผลิตต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสีที่ใช้ย้อมยังเป็นสีจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น “ผ้าทอน้ำมอญ” ที่ได้รับการรังสรรค์ขึ้นจากสีธรรมชาติผ้าที่ย้อมดี ยิ่งตกสียิ่งสวย บางผืนจะสวยน่าใช้มาก (ไม่ใช่สีด่าง) คนสมัยก่อนย้อมเสร็จพอตัดเป็นเสื้อแล้วนำไปแช่น้ำ ใช้ไม้ทุบให้ฟูเป็นใยนวลยิ่งเก่ายิ่งสวย ขึ้นอยู่กับการใช้ของแต่ละคนจะสลับสีอ่อนสีแก่ไว้ตรงไหนก็งามได้

 


เสน่ห์ของผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติอยู่ที่แต่ละชิ้นไม่ซ้ำกันมีชิ้นเดียวในโลก แต่ละสีที่ได้เกิดจากภูมิปัญญาพื้นบ้านและคุณประโยชน์ของพืชพรรณรอบตัว อย่าง “สีเขียวสบันงา อันเป็นสีบอกเล่าถึงตัวตนของผ้าน้ำมอญสีนี้ ย้อมจาก "ใบเหว หรือ ใบตะเพียนหนู" พืชประจำท้องถิ่นจะขึ้นในป่าบริเวณทางไปอุทยานแจ้ซ้อน บางครั้งมีให้เห็นบ้างตามข้างทาง มีมากในช่วง ฤดูฝน จะให้สีเขียวอมเหลืองหรือเขียวมะนาวสีเขียวสด  เขียวขี้ม้า และ สีเทา

 


ส่วน “สีส้ม” ย้อมจาก “คำแสด” และความพิเศษของดอกคำแสดนี้คือย้อมได้ปีละครั้งเท่านั้น คือช่วงเดือน พฤษภาคมหลังจากนั้นจะไม่มีให้เห็นแล้ว  แต่ละครั้งย้อมได้ไม่มากเพราะสามารถเก็บผลคำแสดได้คราวละไม่มาก มาถึง สีน้ำตาล” จาก “เปลือกประดู่ แต่ในช่วงหน้าฝนจะได้สีน้ำตาลอ่อน หรือน้ำตาลอมชมพู หรือบางครั้ง “สีน้ำตาลอ่อน หรือ สีเปลือกไข่” จะใช้ “ใบลำไย” ในการย้อมผ้าก็ได้เช่นกัน และหากต้องการ “สีเขียวอมเหลือง” ก็แค่เลือกใช้ “ใบมะม่วง” สุดท้าย “สีขาวธรรมชาติ ไม่ย้อมไม่ปรุงแต่งเป็นเส้นใยธรรมชาติล้วนๆ อีกหนึ่งข้อสำคัญสีธรรมชาติบางสีไม่เพียงแต่ให้ความสวยงามเท่านั้นแต่ยังช่วยรักษาคุณภาพของเส้นใยอีกด้วย

 


นอกจากนี้ ผ้าทอน้ำมอญ” ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความลงตัวระหว่างการนำเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้กับความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ เกิดเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของผ้าทอน้ำมอญรักษาคุณค่าด้วยการย้อมฝ้ายด้วยสีธรรมชาติช่วยรักษาเนื้อผ้าให้คงทนสวยงามตามแบบธรรมชาติมีการออกแบบลวดลายในทางขวาง แตกต่างไปจากการทอผ้าแบบดั้งเดิมที่นิยมออกลายตามทางยาว ทั้งนี้เพื่อสะดวกต่อการปรับเปลี่ยนลายให้ทันต่อความต้องการของตลาดที่มักเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแต่ก็ยังคงอนุรักษ์ของเก่าซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไว้ด้วยการขั้นลายด้วย ไก ซึ่งมีลักษณะเป็นลายเกลียวนูนออกมาจากเนื้อผ้า ช่วยเสริมเสน่ห์ให้แก่ผ้าทอน้ำมอญเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่ายิ่งขึ้น ซึ่งสมัยก่อนคนทอนิยมใช้ไกในการขั้นลายผ้าถุงแต่จะเป็นเส้นเล็กๆ ไม่นูนออกมาจากเนื้อผ้า

 


ดอกฝ้ายสวยงามดอกเล็กๆ ผ่านกระบวนการต่างๆ จนได้ผ้าทอผืนงาม ล้วนเกิดจากภูมิปัญญาที่ผ่านการสั่งสมถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านการสร้างสรรค์ออกแบบลวดลายต่างๆ บนผืนผ้า ด้วยความใส่ใจในรายละเอียดในทุกขั้นตอนทั้งคนตีฝ้ายและคนปั่นฝ้ายที่ต่างก็ทำด้วยใจที่มุ่งมั่น จนทำให้ดอกฝ้ายปุยงามดอกเล็กๆ ที่ได้ผ่านการคัดสรรมาแล้วเป็นอย่างดี ถูกนำมาปั่นเป็นเส้นเรียงรายผ่านการย้อมสีที่ได้จากธรรมชาติก่อนจะนำมาถักทอจนเป็นผืนผ้าที่สวยงามภายใต้ชื่อ ผ้าทอน้ำมอญ ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ

 

อย่างไรก็ตาม “กลุ่มน้ำมอญแจ้ซ้อน” ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความแตกต่าง สะท้อนอัตลักษณ์ของผ้าทอน้ำมอญให้โดดเด่น โดยได้นำเส้นใยจากธรรมชาติเช่น ใยสับปะรด ใยขิง ใยข่า ที่มีอยู่ในท้องถิ่นนำมาทอผสมกับเส้นใยจากฝ้าย เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ผ้าคลุมไหล่จากเส้นใยสับปะรด ใยขิง หรือใยข่าเป็นต้น และได้นำนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการใส่กลิ่น เช่น กลิ่นตะไคร้หอมสามารถใช้เป็นผ้าคลุมไหล่กันยุงได้

 

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง

 


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์