วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2565

เข้าวัดไหว้พระ ขอพรรับปีเสือ

 

       สวัสดีปีใหม่ 2565 ผู้อ่านที่รักทุกท่าน และเป็นเรื่องปกติที่ว่าเมื่อก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ สิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธศาสนิกชนยึดถือปฏิบัตินอกเหนือจากกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ก็คือการเดินสายเข้าวัดกราบพระขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว  อย่างที่ทราบกันดีว่า “จังหวัดลำปาง” หรือ “เขลางค์นคร” เป็นนครเก่าแก่ของล้านนาที่รุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนา จึงมีวัดอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก และในสัปดาห์นี้เราจะมีกล่าวถึงวัดที่ได้รับความนิยมจากทั้งชาวลำปางรวมถึงนักท่องเที่ยว ซึ่งมักจะพากันแวะเวียนไปกราบขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโอกาสสำคัญๆ 

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นวัดประจำปีเกิดของคนเกิดปีฉลู แต่ วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ยังคงได้รับความนิยมจากชาวพุทธหลั่งไหลเข้าไปกราบสักการะอย่างต่อเนื่อง  โดยภายใน “วัดพระธาตุลำปางหลวง” มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และงานสถาปัตยกรรมงดงามให้ชมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นองค์พระธาตุขนาดใหญ่ทรงล้านนาหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองฉลุลายมีความงดงามเป็นอย่างมาก ภายในพระธาตุบรรจุพระเกศาและพระอัฐิธาตุจากพระนลาฎข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง นอกเหนือจากการกราบองค์พระธาตุ ที่วัดแห่งนี้ยังสิ่งที่น่าสนใจอย่าง “พระวิหารหลวง” ซึ่งมีลักษณะเป็นวิหารโถงไม่มีผนังตามแบบล้านนายุคแรก มีกู่พระเจ้าล้านทอง หรือเจดีย์ทรงปราสาทที่ภายในประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง ซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในลำปาง มีหน้าตักกว้าง 39 นิ้ว สูง 54 นิ้ว สันนิฐานว่าสร้างในสมัยเจ้าหมื่นคำเป็ก

ที่สำคัญวัดพระธาตุลำปางหลวงยังขึ้นชื่อในเรื่องของการชม “พระธาตุหัวกลับ” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดจากการณ์หักเหของแสง หลักการเดียวกับกล้องรูเข็ม โดยจุดชมเงาพระธาตุหัวกลับที่เป็นไฮไลท์จะอยู่ที่มณฑปพระพุทธบาทที่อยู่ด้านหลังองค์เจดีย์ ว่ากันว่าถูกค้นพบโดยบังเอิญเมื่อพระสงฆ์เข้าไปทำความสะอาดในมณฑปแล้วพบเงาพระธาตุที่เกิดจากแสงที่ส่องลอดผ่านรูเล็กๆ บนผนัง ปรากฏในลักษณะของเงาพระธาตุหัวกลับ มีสีสันสวยงามตามจริง แต่ทั้งนี้มีข้อห้ามผู้หญิงขึ้นไปชมพระธาตุหัวกลับบนมณฑปพระพุทธบาท

สำหรับผู้หญิงสามารถเข้าไปชมเงาพระธาตุได้อีกที่หนึ่งคือที่ วิหารลายคำ” หรือ “วิหารพระพุทธ ด้านข้างองค์เจดีย์ ที่นอกจากจะเป็นอีกหนึ่งจุดชมเงาพระธาตุลำปางหลวงแล้ว ก็ยังเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระพุทธ” พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสามปางมารวิชัยที่ได้ชื่อว่ามีพระพุทธลักษณะที่งดงามมากแห่งหนึ่งในล้านนาอีกด้วย


อีกหนึ่งวัดที่ได้รับความนิยมจากพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นวัดเก่าแก่โบราณมีอายุไม่ต่ำกว่า 535 ปี วัดพระเจ้าทันใจ ตั้งอยู่ใน ต. ต้นธงชัย อ.เมือง จ.ลำปาง ทราบมาว่าส่วนใหญ่แล้วนิยมมากราบไหว้ขอพรในด้านการขอบุตร หรือค้าขาย เมตตามหานิยม ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่าทางวัดสำคัญในภาคเหนือ นิยมสร้างพระเจ้าทันใจ ซึ่งหมายถึง พระพุทธรูปที่ใช้เวลาสร้างได้สำเร็จภายใน 1 วัน กล่าวคือ จะเริ่มพิธีตั้งแต่เที่ยงคืนเป็นต้นไป จนสามารถสร้างองค์พระได้สำเร็จก่อนพระอาทิตย์ตกดิน (ก่อนเวลา 18.00 น.) ของวันถัดไป ถ้าสร้างไม่เสร็จถือเป็นพระพุทธรูปธรรมดาทั่วไป และสามารถทำพิธีพุทธาภิเษกได้ในเย็นอีกวันหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากการสร้างพระพุทธรูปนั้น มักจะมีขั้นตอน และพิธีกรรมที่ละเอียดซับซ้อน ช่วงที่สร้างพระพุทธรูปนั้นจะต้องมีการการสวดเจริญพระพุทธมนต์ของพระสงฆ์ตลอดทั้งคืนจนสว่าง และสามารถทำพิธีพุทธาภิเษกได้สำเร็จภายใน 1 วัน จึงถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ จึงเชื่อกันว่าเป็นเพราะพระพุทธานุภาพ และอานุภาพแห่งเทพยดาที่บันดาลให้พิธีกรรมสำเร็จโดยปราศจากอุปสรรค จึงเป็นที่มาของพระเจ้าทันใจที่จะช่วยบันดาลความสำเร็จให้กับผู้ที่อธิฐานขอพรได้อย่างทันอกทันใจ

ขณะเดียวกันภายใน “วัดพระเจ้าทันใจ” ยังมีสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง ซึ่งล้วนเป็นอาคารที่มีปฏิมากรรมจากที่ต่างๆ แล้วมาสร้างประกอบขึ้นใหม่ เช่น หอพระธรรม หรือหอพระไตรปิฎก ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน ยุ้งข้าวที่ใช้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ภายในวิหารยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจพระพุทธรูปเก่าแก่ในสมัยเชียงแสน ให้ผู้ศรัทธาได้กราบนมัสการด้วย โดยพระเจ้าทันใจ นั้นเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน เป็นพระประธานของวัด


วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดา ตั้งอยู่ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง มีตำนานที่น่าศึกษาประวัติศาสตร์ยิ่งนัก สร้างมามากว่า 500 ปี แล้วเช่นกัน ตามตำนานเล่ากันว่า พระเจ้าสามฝั่งแกนเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้จัดขบวนช้างไปรับพระแก้วมรกตมาจากเชียงราย เพื่อจะอัญเชิญไปประดิษฐานยังนครเชียงใหม่ แต่พอถึงแยกลำปางช้างก็เกิดอาการตื่น วิ่งเข้านครลำปาง เจ้าเมืองจึงยินยอมให้ประดิษฐานที่วัดพระแก้วดอนเต้าเป็นเวลา 12 ปี จนพระเจ้าไชยเชษฐาได้กลับไปครองเมืองเวียงจันทน์ กระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะเมื่อทรงเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพไปตีหัวเมืองลาวจนถึงเวียงจันทน์ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์มาประดิษฐานที่กรุงธนบุรี ต่อมาเมื่อได้สถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนตราบเท่าทุกวันนี้

ส่วนที่มาของชื่อ “วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม” ตามตำนานเล่าว่ามีอุบาสิกา ชื่อนางสุชาดา ได้นำแตงโมไปถวายพระเถระที่วัด พอผ่าแตงโมออกมาเจออัญมณี มรกตอยู่ข้างใน พระเถระรูปนั้นจึงจ้างช่างให้นำมรกตนั้นไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ต่อมาได้มีผู้ไปฟ้องเจ้าเมืองลำปางในขณะนั้นว่า พระเถระและนางสุชาดาเป็นชู้กัน เจ้าเมืองลำปางจึงตัดสินให้จับนางสุชาดาไปประหารชีวิต ซึ่งมีผู้รู้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่าเลือดของสุชาดาเป็นสีขาวซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันความบริสุทธิ์ใจของนาง ส่วนพระเถระหลังจากทราบข่าวก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปมรกตหนีไป โดยได้นำไปฝากไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนถึงปัจจุบัน ส่วนสถานที่ตั้งบ้านของนางสุชาดาที่อยู่ใกล้วัดดอนเต้า ก็ได้มีผู้มีจิตศรัทธาสร้างขึ้นชื่อวัดสุชาดาราม ตอนหลังได้มีการประกาศให้เป็นวัดเดียวกัน และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง ศิลปะส่วนใหญ่เป็นแบบล้านนาผสมพม่าประดับลวดลายไม้ และแผ่นแกะสลักฝีมือละเอียดมากพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ประดับกระจกสีวิจิตรงดงามมาก ดูแล้วเพลิดเพลินมากสำหรับผู้ที่ชื่นชอบหรือสนใจงานศิลปะและศึกษา

ต่อกันที่ “วัดพระธาตุเสด็จ” ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมืองลำปาง เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ของจังหวัดลำปาง สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวี สิ่งที่โดดเด่นของวัดนี้ก็คือ องค์พระธาตุเสด็จ ซึ่งมีสถาปัตยกรรมแบบล้านนา เป็นศิลปะสมัยเชียงแสน กว้าง 7 วา สูง 15 วา คล้ายพระธาตุลำปางหลวงแต่องค์เล็กกว่า และมีสีเหลืองทองอร่าม ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากนี้ยังมีวิหารใหญ่ เรียกว่า วิหารกลาง เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อห้ามญาติ พระพุทธรูปสำริดปางลีลาองค์ใหญ่ ที่มีพุทธลักษณะงดงามแล้วก็ มีวิหารหลวง เรียกว่า วิหารจามเทวีประดิษฐานพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน และมีวิหารพระพุทธ ด้านในมี พระเจ้าดำองค์อ้วนเป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ให้ได้กราบขอพรกัน อีกทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่ภายในมีวัตถุโบราณทรงคุณค่ามากมายให้ได้เดินชมแบบได้ความรู้ไปในตัว


“วัดศรีรองเมือง” เป็นวัดพม่าอีกวัดหนึ่งในจังหวัดลำปางที่มีความงดงามมาก ตั้งอยู่ที่บ้านท่าคราวน้อย ตำบลสบตุ๋ย ในเขตอำเภอเมืองลำปาง ตามประวัติความเป็นมาของวัดศรีรองเมืองนั้น เดิมชื่อ “วัดท่าคราวน้อยพม่า” แต่เดิมเคยเป็นสำนักสงฆ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2434 และได้รับการจัดตั้งเป็นวัดในปี พ.ศ.2448 กล่าวกันว่าสร้างขึ้น โดยคหบดีและคณะศรัทธาชาวพม่าที่เข้ามาทำไม้ในเมืองลำปางโดยใช้เวลาสร้างอยู่ประมาณ 7 ปี ภายในวัดนี้มีทั้งวิหารใหญ่และวิหารน้อย สำหรับวิหารน้อยนั้นมีอยู่ถึง 9 หลังแต่ปัจจุบันวิหารน้อยเหล่านั้นปรักหักพังไปจนหมดสิ้น จึงเหลืออยู่เพียงวิหารใหญ่ซึ่งเป็นวิหารประธานของวัดเพียงหลังเดียว

สำหรับ “วิหารศรีรองเมือง” มีสถาปัตยกรรมโดดเด่น ด้วยอาคาร 2 ชั้น มีหลังคาซ้อนกันเป็นชั้นเล็กชั้นน้อยแบบพม่า ส่วนที่เป็นชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนบนทำด้วยไม้ พระพุทธรูปประธานไม้สักทองอายุกว่า 100 ปี ประดิษฐานอยู่ที่เรือนยอด ซึ่งตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของอาคาร ภายในประดับตกแต่งด้วยลายไม้แกะสลักและปูนปั้นลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกสีสวยงาม วิหารไม้แบบไทใหญ่ของวัดศรีรองเมืองนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร พ.ศ. 2524 นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น เว็จกุฎีเก่าของวัดซึ่งเป็นอาคารไม้รูปทรงแบบศาลา มีหลังคาแบบปั้นหยา มีปีกนกรอบ ยกคอสูงและซ้อนจั่วสามชั้นบนคอสอง วัสดุมุงกระเบื้องไม้ มีการตกแต่งชายคาด้วยไม้ฉลุลาย อุโบสถแบบพม่า ต้นโพธิ์และบ่อน้ำโบราณ

“วัดอักโขชัยคีรี” ตั้งอยู่ที่ตำบลวิเชตนคร อำเภอแจ้ห่ม ได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอแจ้ห่ม เพราะเป็นวัดที่มีอายุเก่าแก่ เชื่อว่าสร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างเมืองแจ้ห่ม โดยวัดตั้งอยู่บนยอดดอยอักโขชัย มีความโดดเด่นด้วยวิหารบนเขาสูง ต้องเดินขึ้นบันไดไปประมาณ 227 ขั้น ด้านบนมีทั้งวิหารและพระธาตุ ภายในวิหารยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ เรียกว่า “พระศากยมุณีคีรีอักโข” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางถวายเนตรที่ชาวเมืองแจ้ห่มให้ความเคารพศรัทธาอย่างมาก สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้อยู่ตรงที่ปรากฏการณ์เงาสะท้อนภาพหัวกลับของพระธาตุ ที่จะสามารถชมได้ภายในวิหารชมเงา โดยภาพที่ปรากฏจะเป็นภาพสีของพระธาตุกลับหัวอย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังมีหินไม้โบราณ เป็นซากไม้ดึกดำบรรพ์ให้ชมอีกด้วย นักท่องเที่ยวที่สนใจจะไปดูเงาสะท้อนพระธาตุกลับหัว 

ปิดท้ายทริปไว้พระขอพรรับปีเสือที่ “วัดเสลารัตนปัพพตาราม” หรือ “วัดไหล่หินหลวงแก้วช้างยืน” ตั้งอยู่ที่ตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา เป็นวัดโบราณของเมืองลำปางที่มีสถาปัตยกรรมงดงาม โดยเฉพาะพระวิหารที่สร้างโดยช่างชาวเชียงตุง โดยมีรูปแบบตามแบบศิลปะล้านนาดั้งเดิม มีลักษณะเปิดโล่ง ด้านหน้าบันประดับด้วยไม้แกะสลักวิจิตรบรรจง ในส่วนของโขงประตูก็ประดับประดาไปด้วยปูนปั้นลวดลายต่างๆ  รวมทั้งรูปสัตว์ตามแบบล้านนา และภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านให้ผู้ที่สนใจได้เข้าไปเรียนรู้อีกด้วย

         ได้รายชื่อวัดเป็นไกด์ไลน์ไปแล้ว คุณผู้อ่านจะเลือกไปกราบสักการะที่ไหน ผู้เขียนขอร่วมอนุโมทนาบุญล่วงหน้า ให้โชคดี มีความสุข ห่างไกลจากโรคร้าย และเบิกบานใจตลอดปี

                                                                                        กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง















Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์