วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2565

“Long COVID” ของฝากจากโควิด หลังติดเชื้อแล้ว โควิดทิ้งอะไรไว้ให้กับเรา !



เป็นที่ยืนยันแล้วว่า หลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสที่เราจะต้องประสบกับอาการ Long COVID (ลองโควิด) ที่ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงเท่าเดิม แถมบางคนอาจยังมีอาการป่วยไม่ต่างกับตอนติดเชื้ออยู่เลย โดยเฉพาะความผิดปกติของปอด และหัวใจ  ที่ทำงานได้ไม่ดีเหมือนก่อน

บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อให้รู้เท่าทันและลดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางร่างกาย ที่อาจเกิดขึ้นหลังหายจากโควิด-19 และสำรวจตนเองว่า หลังติดโควิด เรามีภาวะ Long COVID หรือมีอาการที่ใกล้เคียงกับภาวะดังกล่าวหรือไม่ ? ที่สำคัญจะมีผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวอย่างไร ?


Long COVID (ลองโควิด) คืออะไร?

“Long COVID” หรือ “ลองโควิด” คือ อาการทางร่างกายและทางจิตใจ ที่หลงเหลืออยู่หลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 อาจเป็นผลกระทบทางตรงจากร่องรอยของโรค หรือเป็นผลกระทบทางอ้อมที่มาจากช่วงที่เคยติดเชื้อก็ได้ ทั้งนี้ ลักษณะอาการอาจคล้าย หรือแตกต่างกันกับอาการในช่วงที่ติดโควิด-19


อาการของ Long COVID (ลองโควิด) ที่พบบ่อย

องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ข้อมูลว่าอาการ Long COVID มีความเป็นไปได้ที่หลากหลายมาก มีทั้งอาการที่คล้ายกับตอนเป็นโควิด-19 และอาการที่ดูไม่เกี่ยวข้องกันเลย อย่างไรก็ดี มีลักษณะอาการร่วมที่พบได้บ่อยที่สามารถนำมาสรุป  ได้แก่

·         อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย 

·         มีอาการหายใจถี่ หรือหายใจไม่ทัน หอบเหนื่อย

·         ใจสั่น รู้สึกแน่นหรืออึดอัดบริเวณหน้าอก

·         ความจำสั้น สมาธิสั้น หรือรู้สึกสมองล้า

·         มีไข้ ไอ ปวดหัว เจ็บคอ

·         มีการรับรสหรือได้กลิ่นน้อยลง

·         ปวดตามข้อต่อต่าง ๆ

·         นอนไม่หลับ หลับยาก

·         เวียนศีรษะ

·         ปวดท้อง ท้องเสีย ไม่อยากอาหาร

·         มีผื่นขึ้นตามตัว

·         อาจมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล

โดยหลังหายจากโควิด-19 เราควรตรวจร่างกายเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ และควรหมั่นสังเกตประเมินร่างกายตัวเองอยู่เสมอ ดยเฉพาะกลุ่มอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ อาการเหนื่อยง่าย และภาวะสมองล้า หากมีอาการผิดปกติที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาและฟื้นฟูอย่างตรงจุด ให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม หากเป็นอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ อาการเหนื่อยง่าย และภาวะสมองล้า แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในอาการของ Long COVID  แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้เช่นกัน หากไม่แน่ใจ ควรมาปรึกษาแพทย์โดยตรงจะดีที่สุด

 

สาเหตุของภาวะ Long COVID (ลองโควิด)

สาเหตุของอาการ Long COVID  นั้นยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน โดยมีข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ดังนี้

1.      เชื้อโควิด-19 อาจทิ้งร่องรอยความเสียหายในอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้อวัยวะที่เกิดความเสียหายนั้นไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หากเกิดความเสียหายที่บางส่วนของสมอง อาจเกิดภาวะสมองล้า (Brain Fog Syndrome) หรือหากมีความเสียหายที่ปอด ก็จะทำให้เกิดความผิดปกติเวลาหายใจ เช่น หายใจถี่ เหนื่อยหอบง่าย เป็นต้น

2.      การทำงานของภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงดีมาก กลายเป็นว่าเมื่อหายจากโควิด-19 แล้ว ภูมิคุ้มกันอาจหันมาทำลายเซลล์ในร่างกายของเราเอง

3.      ยังหลงเหลือชิ้นส่วนของไวรัสโควิด-19 ในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นชิ้นส่วนที่ไม่ทำงานแล้ว หรือยังทำงานได้อยู่ เป็นผลไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเราให้ต่อต้าน จนมีอาการป่วยเกิดขึ้น

ข้อแนะนำ :  ควรติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อรอข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น


ใครบ้างที่เสี่ยงต่อภาวะ Long COVID (ลองโควิด)

อาการ Long COVID มีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 30-50% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว อาจเกิดหลังจากที่ได้รับเชื้อมาแล้ว 4-12 สัปดาห์ขึ้นไป มีรายงานว่าพบผู้ป่วย Long covid ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (โดยเฉพาะในวัยทำงาน)

กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะดังกล่าว ได้แก่ ผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว (ผู้ป่วยสีเหลืองไปจนถึงสีแดง) โดยเฉพาะในกรณีที่เชื้อลงปอดแล้วเกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรง เนื่องจากจะเกิดรอยโรคที่มีในปอดได้มากกว่า และใช้ระยะเวลาฟื้นตัวนานกว่า

นอกจากนี้ อีกกลุ่มที่ควรเฝ้าระวัง เพราะมีโอกาสได้รับผลกระทบของโรคที่รุนแรงและฟื้นตัวได้ยากกว่า คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ป่วยโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเบาหวาน รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ 

อย่างไรก็ดี มีรายงานผู้ป่วยที่ไม่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง แต่ก็ยังมีอาการ Long COVID ได้ ดังนั้น แม้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่การไม่ประมาทไว้ก่อน จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อและลดโอกาสที่จะเป็น Long COVID ที่ดีที่สุด

ในเด็กหลังติดโควิด อาจพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ที่เรียกว่า MIS-C

Multisystem inflammatory syndrome in children (MIS-C) ซึ่งเป็นภาวะหลังจากที่เด็กติดโควิดแล้วมีเกิดอาการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกติ อาจมีอาการคล้ายโรคคาวะซากิ เช่น มีไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในไอซียู หรือมีภาวะแทรกซ้อนทำให้เสียชีวิตได้

  

วัคซีนโควิดช่วยป้องกัน Long COVID (ลองโควิด) ได้หรือไม่ ?

มีรายงานที่น่าสนใจพบว่า ผู้ป่วยบางส่วนที่มีปัญหา Long COVID เป็นเวลานาน มีอาการที่ดีขึ้นหลังได้รับการฉีดวัคซีน แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีการคาดการณ์สาเหตุว่าอาจมาจากการตอบสนองต่อการกระตุ้นของวัคซีน ทำให้ภูมิคุ้มกันมีความเปลี่ยนแปลงหรือถูก reset ให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ

นอกจากนี้ การได้รับวัคซีนก่อนได้รับเชื้อ จะช่วยลดโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงด้วย ส่งผลให้โอกาสเกิด Long covid มีน้อยลง หรือหากว่ามี ก็ลดโอกาสที่จะรุนแรงได้


แนวทางป้องกัน Long COVID (ลองโควิด)

หากท่านไม่ได้รับเชื้อโควิด-19 และกำลังอ่านบทความนี้อยู่ แนวทางเบื้องต้นที่ควรทำเพื่อลดความเสี่ยง ทั้งจากภาวะรุนแรงของโรค และจาก Long COVID ได้แก่

·         ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด

·       หากมีโรคประจำตัว พยายามดูแลตนเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ให้อาการของโรคอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

·        รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม แล้วหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วงเวลาดังกล่าวอาจไม่เหมาะกับการออกกำลังกายข้างนอก ก็สามารถออกกำลังกายด้วยท่าง่าย ๆ ในบ้านก็ได้

·       กรณีที่น้ำหนักเกิน ควรคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หรือปรึกษาแพทย์

·       รักษาภาวะจิตใจให้สดชื่น แจ่มใส ไม่เครียด ไม่วิตกกังวลหรือแพนิค พยายามตรวจสอบภาวะจิตใจของตัวเองเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเข้ามา

·        หากทราบว่าตนได้รับเชื้อโควิด-19 ให้แจ้งสถานพยาบาลในพื้นที่ของท่านทราบโดยเร็วที่สุด เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป


แนวทางการฟื้นฟูภาวะ Long COVID (ลองโควิด)

เมื่อทราบว่ามีอาการ Long covid และปรึกษาแพทย์แล้ว ในช่วงที่พักฟื้นรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ต้องเน้นดูแลร่างกายเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากการอักเสบ เพราะโควิด-19 ได้ทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย ได้แก่

กินอาหารที่ช่วยฟื้นฟูทุก ๆ มื้อ : อาหารโปรตีนมีส่วนช่วยในการซ่อม สร้าง และเสริม เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย เราจึงควรกินอาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ถั่วชนิดต่าง ๆ โดยกินในสัดส่วนที่เหมาะสมกับร่างกาย 

นอกจากนี้ อาจกินอาหารประเภทแป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้องหอมมะลิ ขนมปังโฮลวีท เพื่อลดอัตราการดูดซึมน้ำตาลที่เร็วเกินไป (น้ำตาลมีส่วนเพิ่มโอกาสการอักเสบ) แล้วอย่าลืมกินผักและผลไม้ เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบ

ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม : หลายคนอาจนึกถึง “การออกกำลังกาย” เพราะเป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูร่างกายให้กลับมามีสมรรถภาพเช่นเดิมได้อีกครั้ง ซึ่งแม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นผลดีต่อร่างกาย แต่บางอย่างอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เพิ่งหายจากโควิด (และถึงขั้นทำให้อาการแย่ลงได้) ดังนั้นในผู้ป่วยที่เพิ่งหายจากโควิดจึงควรเลือกการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

ดังนั้น ควรเริ่มจากท่าออกกำลังกายเบา ๆ เน้นเคลื่อนไหวช้า ๆ ให้มากที่สุด อย่าพึ่งรีบไปทำท่ายาก อย่าพึ่งเร่งตัวเองให้เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เพราะช่วงแรกนั้น ปอดหรืออวัยวะต่าง ๆ ของเราอาจยังมีส่วนที่เสียหายอยู่ ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

แม้เป็นแค่ท่าออกกำลังกายที่เมื่อก่อนเราก็เคยทำได้ตามปกติ
แต่เพราะสมรรถภาพของปอดหรืออวัยวะของเรายังไม่เหมือนเดิม
ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้เช่นกัน

สรุปแล้ว การเลือกรับประทานอาหารที่มีส่วนช่วย ซ่อม สร้าง เสริมรวมถึงการออกกำลังกายให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายที่พึ่งหายดีจากโควิด จึงต้องกระทำอย่างเหมาะสม ถ้าเป็นไปได้ ควรมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลจะดีที่สุด

สรุป

Long COVID หรือ ลองโควิด เป็นอาการด้านร่างกายและจิตใจ ที่เราอาจต้องประสบหลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน ส่งผลต่อสมรรถภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน บางรายอาจมีอาการมากจนน่าเป็นห่วง บางรายอาจมีอาการน้อย แต่ก่อให้เกิดความวิตกกังวล ไม่กล้าทำกิจกรรมได้เต็มที่เหมือนแต่ก่อน กลายเป็นว่า นอกจากผลกระทบทางกายและใจโดยตรงแล้ว ยังมีผลทางอ้อมต่อความมั่นใจ ความกังวล ความเครียดที่อาจจะตามมาอีกด้วย 

เพราะเราเลือกไม่ได้ว่า อาการต่าง ๆ ของลองโควิด จะเข้ามาให้เราได้ ลองเมื่อไหร่ 

ดังนั้น การทำความเข้าใจ Long COVID เบื้องต้นแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดอาการตื่นตระหนกที่จะเกิดขึ้น และยังทำให้เรามีแนวทางป้องกัน รู้วิธีสังเกตอาการ เตรียมพร้อมรักษาได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงทีอีกด้วย  

ที่มา : https://www.praram9.com/long-covid/?fbclid=IwAR1ktTd1QAZhEGiJMFfKzlQtRJBk9ps7GtXhZKBAmDmpvNGy4vfHuViw3vU


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์