วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2565

สทนช.เร่งจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำวัง จัดการน้ำหลากและน้ำแล้ง พร้อมติดตามการบริหารจัดการน้ำเขื่อนกิ่วลม-เขื่อนกิ่วคอหมา และโครงการสิริราชโมเดล เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565

 



วันที่ 19 เม.ย. 65  นายชยันต์  เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการศึกษาจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน พื้นที่ลุ่มน้ำวัง และการบริหารจัดการน้ำตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/2565 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565  ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลมกิ่วคอหมา ต.บ้านแลง อ.เมืองลำปาง  




นายชยันต์  กล่าวว่า ได้มีโอกาสมาติดตามรับฟังการรรายงานเกี่ยวกับแผนจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำวัง  เพื่อนำไปบริหารจัดการในช่วงฤดูน้ำหลากและฤดูน้ำแล้ง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของลุ่มน้ำวังอยู่ในจังหวัดลำปาง โดยเขื่อนขนาดใหญ่ที่สำคัญในลุ่มน้ำวังคือเขื่อนกิ่วคอหมาและเขื่อนกิ่วลม ซึ่งมีความจุรวม 276 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำดังกล่าวนำไปใช้ด้านเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านอุปโภคบริโภค และผลพลอยได้คือการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำที่เขื่อนกิ่วคอหมา นอกจากนี้ยังมีเขื่อนขนาดกลาง ซึ่งมีความจุรวม 313 ล้านลูกบาศก์เมตร



จากการติดตามทราบว่าลุ่มน้ำวังยังประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งมีสาเหตุสำคัญคือลำน้ำแคบ น้ำไหลไม่สะดวก เนื่องจากมีการรุกล้ำการใช้ประโยชน์ที่ดินสองฝั่งลำน้ำที่เป็นปัจจัยหลักต่อการไหลของน้ำในฤดูน้ำหลาก การเก็บกักน้ำไปใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งก็ไม่ได้เต็มศักยภาพ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งประมาณ 182,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.70 ของพื้นที่ลุ่มน้ำ และพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งรุนแรงได้แก่พื้นที่บริเวณ ต.บ้านเสด็จ อ.เมืองลำปาง ต.แม่ทะ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ดังนั้น สทนช.จึงต้องเร่งดำเนินโครงการศึกษาจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำวัง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์สภาพน้ำท่วมในเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อนำผลไปกำหนดรหัสโซนและเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสมกับรหัสโชน



การจัดทำผังน้ำยังเป็นการสนับสนุนแผนป้องกันแก้ไขสภาวะภัยแล้งและอุทกภัย บ่งชี้พื้นที่เก็บน้ำเมื่อคราวน้ำน้อยอย่างชัดเจน หรือเมื่อน้ำหลากควรจะระบายน้ำออกทางใด เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการน้ำ ช่วยรักษาคุณภาพน้ำ เพราะจะไม่เกิดการรุกล้ำทางน้ำ

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการติดตาความก้าวหน้าการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำวังแล้ว ยังได้ติดตามการบริหารจัดการน้ำเขื่อนกิ่วลม-เขื่อนกิ่วคอหมา ตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/2565 ด้านความต้องการใช้น้ำ (DEMAND) มาตรการที่ 4  กำหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ซึ่งเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนปี 2564 ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนกิ่วลมและกิ่วคอหมารวม 174 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 62 กรมชลประทานได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 โดยจัดสรรน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค 11.74 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 34,438 ไร่ รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 18.27 ล้านลูกบาศก์เมตร และมั่นใจจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามแผนที่วางไว้



นอกจากนี้ พบว่ามีการพัฒนาขุมเหมืองร้างในพื้นที่เหมืองถ่านหินลิกไนต์แม่ทาน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด (SCG) โดยสูบน้ำจากชุมเหมืองด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ วันละประมาณ 1,000ลูกบาศก์เมตร หรือ 1 ล้านลิตร เพื่อช่วยเหลือประชาชนในตำบลสันดอนแก้ว และตำบลใกล้เคียง ซึ่งน้ำในขุมเหมืองนี้มีคุณภาพอยู่ในเกรดมาตรฐานที่นำมาอุปโภคได้ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/2565 มาตรการที่ 2 : จัดหาแหล่งน้ำสำรอง ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ซึ่งทางจังหวัดลำปางจะนำโมเดลของขุมเหมืองแม่ทานไปพัฒนาอีก 10 ขุมเหมืองในจังหวัดลำปาง เพื่อกักเก็บน้ำและนำไปใช้ประโยชน์บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค ทั้งนี้ ยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดใช้กับขุมเหมืองอื่นๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อจะได้เป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับช่วยเหลือพี่น้องประชาชนบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง” รองเลขาธิการ สทนช.กล่าว

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์