เกษตรกรต้องปรับตัวหนัก หลังทั้งปุ๋ยทั้งยาขึ้นราคา ขณะที่ราคารับซื้อสับปะรดยังต่ำ ต้องปรับตัวโดยการหาสายพันธุ์อื่นมาปลูกเสริมเพื่อขายผลสด เพราะให้รายได้ดีกว่าส่งโรงงาน
ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด
ต.บ้านเสด็จ อ.เมืองลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกสับปะรดสายพันธุ์ปัตตาเวียแหล่งใหญ่ของ
จ.ลำปาง เริ่มเก็บเกี่ยวผลออกขายสู่ท้องตลาด โดยทางเกษตรจังหวัดลำปาง ระบุว่า ในปี 2565 นี้
คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตประมาณ 16,479,298 ผล คิดเป็นน้ำหนักเฉลี่ยผลละ 1.5 กิโลกรัม รวมเป็นจำนวน 24,718 ตัน และเชื่อว่าปีนี้จะไม่เปิดปัญหาผลผลิตสับปะรดล้นตลาด
เพราะมีการประสานงานโรงงานรับซื้อผลผลิตกันอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบไร่สับปะรด
บ้านทรายทอง ต.บ้านเสด็จ
พบว่ามีแปลงที่รอเก็บเกี่ยวอยู่จำนวนมาก โดยเกษตรกรได้เริ่มใช้ใบห่อหัวสับปะรดกันแดดที่ร้อนจัดเพื่อรอให้โตเต็มที่
เมื่อผลเริ่มแก่และตาเป็นสีเหลืองก็จะเก็บเกี่ยวออกจำหน่าย นอกจากนั้นก็มีพื้นที่บางส่วนที่เก็บเกี่ยวแล้วและรอออกผลใหม่
เนื่องจากการปลูก 1 หน่อ จะออกผลได้ประมาณ 2-3 ครั้ง
นายจง ไตรยงค์ อายุ 67 ปี ชาวบ้านทรายทอง หมู่ 10 ซึ่งมีไร่สับปะรดอยู่ประมาณ 13 ไร่ เปิดเผยว่า ได้เริ่มปลูกสับปะรดตั้งแต่ปลายปี 64 ที่ผ่านมา เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาถึง 8 เดือน
กว่าผลจะโตจนเก็บเกี่ยวได้ และตอนนี้สับปะรดที่ปลูกเริ่มเจริญเติบโต
คาดว่าพร้อมจะเก็บเกี่ยวได้ในอีก 1 เดือนข้างหน้า
ส่วนใหญ่มีการปลูกสายพันธุ์ปัตตาเวีย
เพื่อส่งขายให้กับโรงงานรับซื้อ ซึ่งในปีนี้ราคาก็ไม่ได้สูงมากนัก เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ
4
- 4.50 บาท และยังไม่รู้ว่าจะลดลงอีกหรือไม่ หากจะให้เกษตรกรอยู่ได้จริงก็จะต้องรับซื้อในราคากิโลกรัมละ
6 บาทขึ้นไป
เพราะช่วงนี้ต้นทุนทุกอย่างขึ้นราคาทั้งหมดเกือบเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย
ยาบำรุงต่างๆ ผู้ปลูกแทบจะไม่ได้อะไรเลย แต่ก็ต้องอดทนทำต่อไปเพราะเป็นอาชีพ หากขายไม่ได้ก็ต้องปล่อยให้เน่าตายคาสวน
นายจง กล่าวว่า ตนเองต้องปรับตัวอย่างมาก ด้วยการหาสายพันธุ์อื่นมาปลูกเสริม
เนื่องจากพันธุ์ปัตตาเวียขายผลสดยากเพราะมีรสชาติเปรี้ยว เหมาะกับส่งโรงงานมากกว่า
หากจะนำไปขายจะต้องคัดเกรดที่เป็นน้ำผึ้งเท่านั้นรสชาติถึงจะดี ตนจึงได้ซื้อสายพันธุ์ตราดสีทองมาปลูก
ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับภูแล แต่ผลจะใหญ่กว่าเล็กน้อย โตเต็มที่จะมีน้ำหนักที่ลูกละ
1.2 กิโลกรัม รสชาติจะหวานกรอบ
ซึ่งขายได้ราคาดี
นอกจากนั้นยังมีพันธุ์เพชรบุรี ที่แม้จะมีความเปรี้ยวแต่ไม่มากเท่าปัตตาเวีย จะมีรสชาติอร่อยกว่า หลังจากเริ่มขยายพันธุ์และลองนำไปวางขาย
ก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างดี จึงได้ปลูกมาเรื่อยๆ
เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ยังได้กล่าวว่า
อยากให้รัฐบาล จังหวัด
หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ หลักๆก็คือเรื่องพยุงราคาปุ๋ย
และยาต่างๆ เพราะเป็นต้นทุนหลักในการปลูกสับปะรด
ช่วยลดต้นทุนในการปลูกลงไปได้บ้างก็ยังดี
เพราะหลังจากประสบปัญหาโควิด-19 มาหลายปี
ขายผลผลิตได้ไม่ดีแล้ว ต้องมาแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ขอให้เห็นใจเกษตรกรด้วย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น