วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

รอง ผวจ.ขอประชาชนมั่นใจ โรงไฟฟ้าขยะมีเทคโนโลยีทันสมัย ไม่กระทบชุมชน แก้ปัญหาขยะล้นเมืองในอนาคต

 



จากที่ อบจ.ลำปางได้จัดโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน เพื่อแปรสภาพเป็นพลังงานไฟฟ้า  โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  ไปเมื่อวันที่ 21 พ.ค.65  ซึ่งยังมีชาวบ้านแสดงความคิดเห็นเป็นห่วงในหลายๆเรื่องด้วยกัน


โดยนายบุญสม ชมพูมิ่ง  ชาวบ้านที่เคยเคลื่อนไหว ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะฯของ อบจ.ลำปาง ได้แสดงความคิดเห็นว่า หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ สิ่งที่ชาวบ้านควรจะได้รับก็คืองบประมาณที่จะเข้ามาดูแลในพื้นที่ ในรูปแบบของกองทุนต่างๆ  แต่ทุกวันนี้งบประมาณได้เข้าไปอยู่ใน อบจ. ซึ่งมีข้อกำหนดในการใช้จ่าย ไม่สามารถให้ชาวบ้านนำมาใช้จ่ายได้  ถ้าเป็นไปได้อยาก อบจ.แก้ไขกฎระเบียบการให้เงินก้อนนี้ที่มาจากโรงกำจัดขยะ และในอนาคตอาจจะมีเงินรอบโรงไฟฟ้าขยะอีก ลงเข้าสู่พื้นที่ให้กับชาวบ้านอย่างแท้จริง

นอกจากนั้นชาวบ้านยังคงกังวลเรื่องการขนย้ายขยะเข้ามาในพื้นที่ เพราะอาจจะต้องมีปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม การดำเนินการจัดการขยะ สุขอนามัยต่างๆ อีกด้วย





ด้าน นายจำลักษ์ กันเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง  กล่าวว่า  โครงการนี้เป็นโครงการที่จัดขึ้นครั้งแรก จากเดิมที่ อบจ.มีการบริหารจัดการขยะโดยใช้วิธีคัดแยก เพื่อนำส่งที่ใช้ได้ไปรีไซเคิล เป็นระบบเก่าไม่สามารถรองรับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นได้   ซึ่งศูนย์จัดการขยะฯ ของ อบจ.ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี​ 2559  ใช้งานมาแล้วกว่า 5 ปี  มีบ่อฝังกลบ 2​ บ่อ มีข้อจำกัดการรองรับขยะได้อีกประมาณ 1 ปี ถ้าจะสร้างบ่อฝังกลบใหม่ ต้องใช้งบประมาณกว่า 32.5 ล้านบาท  ประกอบกับเครื่องจักรกลและระบบอื่นๆ​ ก็หมดอายุการใช้งาน​ หากเปลี่ยนชุดเครื่องจักรก็ต้องใช้เงินอีกกว่า  31 ล้านบาท รวมเป็น 63 ล้านบาทเศษ

 ทาง อบจ.จึงมีแนวคิดที่จะต้องปรับวิธีแก้ปัญหาขยะล้นเมือง คือ การฝัง และการเผา   การฝังจะมีปัญหายาวนานและใช้งบลงทุนเยอะ เพราะฉะนั้นนวัตกรรมใหม่ที่ทำได้ก็คือการเผา แต่ถ้าเผาทิ้งไปเปล่าๆก็ไม่มีประโยชน์ จึงใช้วิธีเผาแล้วนำผลพลอยได้จากความร้อนมาผลิตกระแสไฟฟ้า  ซึ่งเป็นโครงการที่ได้ริเริ่มพูดคุยกันมาตั้งแต่ปี 2560 โดยใช้สถาบันนครพิงค์ ของ ม.เชียงใหม่ มาทำการศึกษาวิจัย  จึงเข้าสู่ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน  เพื่อนำข้อกังวลและข้อเสนอแนะของประชาชนไปแก้ไขปัญหา เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป


รองผู้ว่าฯ กล่าวอีกว่า สำหรับปริมาณขยะของ จ.ลำปาง คำนวณได้ประมาณ 600 กว่าตัน ซึ่งปริมาณที่จะใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าก็ใกล้เคียงกัน  แต่กว่าจะผ่านขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้เวลา 3-4 ปีจึงจะเดินเครื่องได้ ขณะนั้นปริมาณขยะอาจจะเพิ่มขึ้น  ซึ่งคิดว่าไม่กระทบต่อการผลิตไฟฟ้า

ในเรื่องที่เคยมีชาวบ้านออกมาต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าขยะนั้น  ตนคิดว่าเมื่อก่อนโรงไฟฟ้าขยะยังใช้เทคโนโลยีเก่าๆ ทำให้ชาวบ้านไม่มั่นใจ  แต่สมัยนี้โลกเปลี่ยนไปเยอะแล้ว มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามามากมาย  มีหลายจังหวัดที่เริ่มดำเนินการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาบริหารจัดการขยะ เช่น ภูเก็ต ขอนแก่น สมุทรปราการ ซึ่งโรงงานขยะตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนหมดเลย  เป็นระบบปิดไม่มีผลกระทบต่อประชาชน  อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณขยะในพื้นที่ลงได้ ลดแมลงวัน ลดปัญหาน้ำเน่า  ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ทางจังหวัด และอบจ.ได้เข้าไปศึกษาดูแลและเตรียมความพร้อมไว้   ที่สำคัญคือการชี้แจงกับพี่น้องประชาชน  เราจะต้องสร้างความรับรู้และความเข้าใจ ว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะเป็นเรื่องที่ดีกว่าเดิม ไม่เช่นนั้นเราไม่เอามาทำอยู่แล้ว  ถ้าไม่ทำตอนนี้ในอนาคตปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบ  และเกิดขยะล้นเมืองอย่างแน่นอน




         

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์