วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

หัตถกรรมแกะสลักไม้บ้านหลุก ถือเป็นงานหัตถศิลปแห่งภูมิปัญญาชาวลำปาง ที่สืบทอดภูมิปัญญาที่เกิดจากการรังสรรค์สู่ผลงานที่สวยงามที่ทรงคุณค่า

 



“กลัวผิดกฎหมาย ขุดหลุม เพื่อไม่ให้เสียงดัง ลงไปอยู่ในหลุม ใช้ผ้าคลุม เปิดก็ขึ้นมา ปิดก็ลงไปใต้ดิน กลึงไม้ขาย กลัวเจ้านาย... กลัวเจ้านายป่าไม้มาจับ”

สล่าตื่น หรือพ่อตื่น แก้วเตียน ในวัย 79 ปี ได้เล่าความหลัง เมื่อครั้งสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำไม้แกะสลัก โดยประกอบขันโตกขาย  ซึ่งไม้ที่ใช้จะเป็นไม้สักที่นำมาจากในป่า จึงต้องขุดหลุมลงใต้ดินเพื่อกลึงไม้ เพราะสมัยนั้นการนำไม้สักมาแกะสลักถือว่าผิดกฎหมาย  จึงกลัวตำรวจจับเลยต้องทำห้องใต้ดินไว้ เพื่อทำงานลับๆ ไม่ให้เห็นแสงไฟเล็ดลอดออกมาได้  แต่เมื่อได้มีการส่งเสริมไม้แกะสลักมากขึ้น  จึงมีการแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้ไม้ฉำฉาแทน จากที่เคยอยู่ใต้ดิน จึงขึ้นมาบนดิน ชาวบ้านเริ่มปรับเปลี่ยนและมาทำไม้แกะสลักอย่างถูกกฎหมาย





เรียนแกะสลักมาถ่ายทอดให้คนในหมู่บ้าน

เส้นทางการแกะสลักไม้ของ พ่อตื่นนั้น เริ่มจากการบวชเณรอยู่ที่วัด และได้ชื่นชอบการวาดลายฉลุต่างๆบนกระดาษจึงเริ่มที่จะเรียนรู้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา   โดยพ่อตื่นเองถือว่าเป็นผู้ริเริ่มการแกะสลักไม้รุ่นแรกคนหนึ่ง  ร่วมกับเพื่อนอีก 4 คน   คือ สล่าจันทร์ดี แก้วชุ่ม   สล่าจันทร์  สล่าก้ำ และสล่าน้อย   ไปเรียนแกะสลักและนำมาถ่ายถอดต่อให้คนในหมู่บ้าน  และช่วยกันนำไปขาย




เริ่มจากแกะสลักรูปหัวสัตว์

          สล่าจันทร์ หรือพ่อจันทร์ มาปัน อายุ  88 ปี หนึ่งในผู้ริเริ่มแกะสลักร่วมกับพ่อตื่น ได้เล่าว่า ตนเองได้เริ่มจากการแกะหัวสิงโต ส่วนพ่อตื่นจะแกะหัวม้า จากนั้นก็ได้แกะหัวกวาง หัวกระทิง เรียนรู้ไปเรื่อยๆ  เคยพากันขึ้นรถไปซื้อเขากวางที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อเอามาติดหัวกวางแกะสลัก   บ้างก็ขายกันเอง บ้างก็มีพ่อค้าคนกลางมารับไปขาย 





          เดินเร่ขายเมืองกรุง

          “สมัยก่อนขนไม้แกะสลักใส่รถเมล์เขียวไปเป็นกอง ขึ้นรถไปกรุงเทพฯ ขนไม้แกะสลักไปไว้ที่พัก และเอาออกไปเดินเร่ขายครั้งละ 3-4 หัว  พอขายหมดก็กลับไปเอามาใหม่ หัวกวางจะขายดีเมื่อก่อนราคาไม่แพง เขากวาง 40-50 บาท แต่เดี๋ยวนี้เอามาไม่ได้ ตำรวจจะจับเอา”   พ่อจันทร์เล่าอย่างสนุกสนาน

เคยขอนั่งรถไทยรัฐไปกรุงเทพฯ

พ่อจันทร์ บอกอีกว่า  ตนเองเคยขึ้นรถหนังสือพิมพ์ไทยรัฐไป ไปขึ้นที่สบตุ๋ย  และไปลงหมอชิต ก็ไปพักโรงแรม แล้วก็ เร่ขาย เดินขายวัน 2-3 ตัว ค่ำมาก็กลับมานอนพักด้วยกัน  ไม่กี่วันก็ขายหมดแล้ว  แต่ก่อนมันไม่ใช่มีใครเอาไปขาย ขายดี เราเอาอะไรไปก็ขายได้หมด  ไม่ว่าจะเป็น ช้าง เป็นของตัวใหญ่ๆ  เขาเห็นเขาก็ชอบ แต่เดียวนี้เขาคงเห็นจนชินตาไปแล้ว มันมีเยอะ




บ้านหลุกเคยเฟื่องฟู

พ่อตื่น  บอกว่า  ประมาณปี 2555 ได้มีการเปิดหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอป ตอนนั้นบ้านหลุกเฟื่องฟูมาก มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ ขายของดี  ช้างไม้แกะสลักใหญ่ๆต้องลากไปส่ง เอารถมาใส่ของไป โรงแรมเอราวัณที่กรุงเทพ เป็นขาประจำเลย เพราะเอาไปถวายเจ้าพ่อ  มีทั้งรถทัวร์ รถเมล์ รถตู้ เข้ามาในหมู่บ้าน แต่ทางแคบเข้ามายาก รถทัวร์จึงไม่ค่อยเข้ามา จะมีก็แต่รถตู้ที่เข้ามาเที่ยวเยอะ




บ้านหลุกเริ่มร้าง

แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่ปี  ในปี 2560 จนถึงปัจจุบัน บ้านหลุกจากที่เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอป กลับบ้านเป็นหมู่บ้านที่เงียบเหงา ไม่มีนักท่องเที่ยวอย่างเคย 

พ่อจันทร์ กล่าวว่า  ปัจจุบันศูนย์จำหน่ายสินค้าไม้แกะสลักบ้านหลุก   เขาไม่ได้ขาย เขาเปิดหมด ในร้านมีของเต็มทุกร้านเลย  ของลูกชายก็อยู่ในนั้นเหมือนกัน แต่มันขายไม่ได้ มันไม่ได้ขาย พอไม่ได้ขายก็เลยปิดกันหมด  เพราะไม่มีคนมาเที่ยว

แม้ว่าบ้านหลุกจะกลายเป็นหมู่บ้านร้างด้านการท่องเที่ยว  แต่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็ยังคงทำงานไม้แกะสลักเช่นทุกวัน  ดีบ้าง ล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่งานไม้เกาะสลักก็ยังจะคงอยู่คู่กับบ้านหลุก   และยังคงรอคนรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอดต่อไป.









Share:

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ02 สิงหาคม, 2566 03:16

    ขอบคุณบอกเล่าเรื่องราวของบ้านหลุก และพ่อสล่าตื่น แก้วเตียม จากลูก
    พ่อสล่าตื่นค่ะ

    ตอบลบ

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์