วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2565

ผู้ว่าฯลำปาง ประกอบพิธีประดิษฐานพระรูปหล่อทองเหลืองจำลอง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และเจ้าศรีอโนชา อัครมเหสีฯ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง




วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๙ น. นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในพิธีประดิษฐานพระรูปหล่อทองเหลืองจำลอง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และเจ้าศรีอโนชา อัครมเหสีในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ณ วิหารต้นแก้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา โดยมี นางธิติพร จินดาหลวง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และคณะตระกูลเจ้านายฝ่ายเหนือ ร่วมประกอบพิธีทักษิณานุประทานและเจริญพุทธมนต์ พระรูปหล่อทองเหลืองจำลองฯ




สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๓๔๖) ทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีพระนามเดิมว่า บุญมา เป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชร่วมพระชนกชนนีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช




ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จปราบดาภิเษกเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระปฐมบรมกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ จึงได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ (ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงเฉลิมพระนามพระอัฐิว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ครั้งนั้นยังมีศึกสงครามอยู่ เพราะพม่าเห็นไทยตั้งตัวเป็นปึกแผ่นขึ้นอีก สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงเป็นกำลังสำคัญช่วยสมเด็จพระเชษฐาธิราชในการป้องกันพระราชอาณาจักรและปราบปรามอริราชศัตรูมาตลอดมา





นอกจากพระราชกรณียกิจสำคัญในการป้องกันประเทศแล้ว พระองค์ยังเป็นกำลังหลักในการสร้างพระนครให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงและเป็นสง่าเชิดชูพระเกียรติแห่งพระราชวงศ์ กล่าวคือ ทรงสร้างพระราชวังบวรสถานมงคล ป้อม ประตูยอด สะพาน วังเจ้านาย บ้านรับแขกเมืองและบ้านข้าราชการหลายแห่ง ทรงสร้างโรงเรือถวายเป็นส่วนของพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งพระราชวังบวรสถานมงคลทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนทรงบำรุงพระบวรพุทธศาสนาโดยการสถาปนาพระอารามต่าง ๆ อาทิ วัดมหาธาตุวัดชนะสงคราม วัดโบสถ์ วัดบางลำพู วัดสมอแครง วัดส้มเกลี้ยง และทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามเก่า คือ วัดสำเพ็ง วัดปทุมคงคา วัดครุฑ วัดสุวรรณคีรี วัดสุวรรณดาราราม และทรงช่วยสมทบทำหอมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วิหารคดวัดพระเชตุพน ตลอดจนทรงสร้างอาคารต่าง ๆ ที่ใช้ในงานศพด้วยถาวรวัตถุที่วัดสุวรรณาราม





สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทประชวรพระโรคนิ่ว เมื่อครั้งเสด็จยกทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕ พระอาการมาก ต้องพักรักษาพระองค์อยู่ที่เมืองเถิน เมื่อเสร็จราชการศึก พระโรคคลายแล้ว จึงเสด็จยกกองทัพกลับลงมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๖ ต่อมาพระโรคกำเริบขึ้น เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ ปีกุน เบญจศก ตรงกับวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๔๖ พระชนมายุ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท มีพระราชโอรสธิดา รวม ๔๓ พระองค์
Share:

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ07 พฤษภาคม, 2566 11:07

    ชอบพระคุณที่บันทึกแจ้งไว้ ให้เป็นที่รู้กัน และจะได้มีคนมาบูชากราบไหว้ พระนอนพระจำองค์พระเจ้าทิพย์ช้าง และ บูชาองค์พระยาสุรสีห์ และเจ้าศรีอโนชา ผู้ทำสงครามปกป้องบ้านเมือง ให้พวกเรา ได้ ที่วิหารต้นแก้ว ของเจ้านายฝ่ายเหนือ ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงแห่งนี้คะ สาธุ สาธุ

    ตอบลบ

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์