วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565

Meamoh Smart City เปิดศูนย์ดัดแปลงรถไฟฟ้า จากช่างยนต์สู่วิศวกร EV แห่งอนาคต

 


เดินหน้าอีกหนึ่งก้าว สำหรับโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ Meamoh Smart City  เมืองน่าอยู่ด้านพลังงานอัจฉริยะ  Smart Energy ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยการร่วมมือระหว่าง กฟผ.แม่เมาะ จับมือสถานศึกษาและภาคเอกชน เปิด อบรม โครงการ EV Conversion ดัดแปลงรถน้ำมันเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV)” เพื่อสร้างบุคลากรอาชีวศึกษา รองรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้า   โดยการคัดเลือกนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิค กฟผ. แม่เมาะ และวิทยาลัยเทคนิคลำปาง  เข้าร่วมโครงการ  และใช้สถานที่ อาคารปฏิบัติการช่างอุตสาหกรรม 1 (ช่างยนต์) วิทยาลัยเทคนิค  กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง  เป็นศูนย์อบรมดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า อ.แม่เมาะ แห่งแรกของ จ.ลำปาง



นายรุ่งโรจน์ อาริยะ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิค กฟผ. แม่เมาะ  เคยให้สัมภาษณ์กับลานนาโพสต์ว่า  ทาง กฟผ.แม่เมาะ ได้ให้ทางวิทยาลัยเข้าร่วม โครงการ Smart Energy  โดยผลักดันเรื่องการใช้พลังงานทดแทนในอาคารเรียน  ด้วยการติดตั้งมิเตอร์วัดการใช้ไฟฟ้า และเตรียมจัดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ภายในอาคาร  พร้อมกับมีโครงการนำเสนอให้วิทยาลัยเป็นศูนย์ที่จะปรับรถทั่วไป ทั้งรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ ให้กลายเป็นรถไฟฟ้า หรือรถ EV 




กระทั่ง โครงการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟฟ้า (EV Conversion Project)  ได้เกิดขึ้นจริง โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกัน ระหว่าง  นายจรัญ คำเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2  นายรุ่งโรจน์ อาริยะ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิค กฟผ.แม่เมาะ  รองศาสตราจารย์ ดร.อุเทน คำน่าน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบอย่างยั่งยืนมหาวิทยาลัยโทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และนายวีระศักดิ์ แป้นพ่วง ผู้จัดการบริษัท WPEV จำกัด  เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565  ที่ผ่านมา  ก่อนจะได้ฤกษ์เปิดศูนย์อบรมดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น ที่วิทยาลัยเทคนิค กฟผ.แม่เมาะ ให้เป็นเขตสาธิต คาร์บอนต่ำ”  และคาดว่านำไปใช้ได้จริงช่วงปลายปี 65 นี้



นายอรรถพล อิ่มหนำ ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ  กล่าวถึงโครงการว่า   กฟผ.มีแนวคิดว่าที่สนับสนุนโครงการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า  ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของแม่เมาะเมืองน่าอยู่ จึงผลักดันให้โครงการนี้ให้เกิดขึ้น  โดยสนับสนุนรถที่ปลดระวางจาก กฟผ.ที่ยังใช้งานได้ นำมาใช้ในโครงการอบรมการเรียนการสอนนี้ เป็นรถจักรยานยนต์ จำนวน 4 คัน รถตู้ 1 คัน และรถยนต์กระบะ 1 คัน 

ซึ่งการนำความรู้มาถ่ายทอดให้นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิค กฟผ.แม่เมาะ  จะเป็นประโยชน์ในการนำความรู้ไปพัฒนาเป็นอาชีพในอนาคตได้   โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้ในรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน  ตามขั้นตอนที่ถูกต้อง   เราตั้งเป้าว่าหลังจากที่ดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้าที่วิ่งได้จริงแล้ว จะนำรถไปใช้งานในพื้นที่ กฟผ.เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ โครงการ  จุดประกายให้เห็นว่าในอนาคตรถที่ปลดระวางแล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้ด้วยการดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้า





ด้าน นายวีระศักดิ์ แป้นพ่วง ผู้จัดการบริษัท WPEV จำกัด  กล่าวว่า  ทางบริษัทจะเป็นผู้เข้ามาให้ความรู้กับนักศึกษา  สิ่งที่จะได้เรียนรู้หลักๆคือการดัดแปลงเครื่องยนต์เดิมเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า เน้นการประกอบแบตเตอรี่ สายมอเตอร์  เดินเกราะคอนโทรล และการจัดการระบบต่างๆ   เนื่องจากรถไฟฟ้าได้รับความนิยมสูงขึ้นมากถึง 300 เปอร์เซ็นต์ เพราะลดการใช้น้ำมัน ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก เพราะฉะนั้น ถ้านักศึกษามีความรู้ส่วนนี้ไว้ จะดูแลรถได้ดีขึ้น รวมถึงมีความรู้ด้านการซ่อมบำรุงด้วย  นำไปต่อยอดได้ทั้งด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ





นายรุ่งโรจน์ อาริยะ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิค กฟผ. แม่เมาะ  กล่าวทิ้งท้ายว่า  วิทยาลัยเทคนิค กฟผ. มีความพร้อมด้านสถานที่ในการดำเนินการดัดแปลงรถ EV  มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถร่วมดำเนินการ  และมีเครือข่ายใน จ.ลำปาง ส่งนักศึกษามาร่วมโครงการ   โดย กฟผ.ได้อนุเคราะห์รถยนต์และรถจักรยานยนต์  รวม 6 คัน นำมาเป็นสื่อการเรียนรู้

ในอนาคตรถไฟฟ้าจะเข้ามาใช้แทนรถน้ำมันในบางส่วน  วิทยาลัยอยากเติมเต็มให้นักศึกษาได้เรียนรู้และทราบถึงการดัดแปลงรถ EV  รวมถึงการบำรุงรักษารถที่ประกอบแล้ว และนำเข้าจากต่างประเทศมาใช้งานในประเทศไทย  เพื่อที่นักศึกษาได้องค์ความรู้ต่างๆแล้ว  จะใช้เป็นเครื่องมือในการดัดแปลงรถเอง และดูแลรักษารถ EV ที่นำเข้ามาใช้มากขึ้น   นักศึกษาจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพดัดแปลงรถ EV เองได้  หรือดูแลบำรุงรักษารถนำเข้าจากประเทศอื่นๆ  รวมทั้งจะนำไปต่อยอดด้านการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เป็นวิศวกรเฉพาะด้าน EV  ในอนาคตได้   ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิค กฟผ. แม่เมาะ  กล่าว




          สำหรับการเปิดอบรม โครงการส่งเสริมการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion Project) มีนายชนาธิป เสมแย้ม ปลัดจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดโครงการ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์อบรมดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า อ.แม่เมาะ จัดตั้งขึ้นที่ วิทยาลัยเทคนิค กฟผ.แม่เมาะเป็นแห่งแรกใน จ.ลำปาง  โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และบริษัท WPEV จำกัด ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้จริง จากนั้นจะนำยานยนต์ที่ดัดแปลงแล้วเข้าตรวจสอบมาตรฐาน และจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามเงื่อนไขของกรมการขนส่ง โดยตั้งเป้านำร่องใช้งานยานยนต์ดัดแปลงจากโครงการฯ ในพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ และชุมชน อ.แม่เมาะ ปลายปี 2565   

 



Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์