วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2565

“ดอยคำ”นำ“เยาวชนเหนือ-กลาง”สร้างฝาย ปลูกจิตสำนึกจิตอาสา



ปัจจุบันการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการส่งเสริมและปลูกฝังจิตสำนึก ความเป็นนักพัฒนาอาสาเพื่อสังคมของเยาวชนไทยให้มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละและการมีจิตสาธารณะ โดยกำหนดไว้ในหลักสูตร ให้มีกิจกรรมเพื่อสังคม ส่งเสริมให้นักเรียนบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ชุมชนและท้องถิ่น ตามความสนใจในลักษณะของอาสาสมัคร ดังนั้น นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร นำทีมจัดกิจกรรม “เยาวชนหัวใจดอยคำ” นำเยาวชนระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่และเยาวชนจากกรุงเทพฯ ร่วมทำฝายดอยคำ ที่ฝายต้นน้ำชุมชนบ้านยาง อ.ฝาง จังหวัดเชียงใหม่

 


นายพิพัฒพงศ์ กล่าวว่า การทำฝายจะมีชาวบ้านในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ดอยคำเป็นกำลังหลัก ทำหน้าที่ปลูกฝังจิตอาสาให้กับเยาวชน ซึ่งแต่ละปีจะมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม ประมาณ 30 ราย สำหรับปีนี้มีนักเรียนเข้าร่วมทำฝายรวม 22 ราย แบ่งเป็นเยาวชนพื้นที่ 18 ราย จาก 5 โรงเรียนคือ โรงเรียนรัตนเอื้อวิทยา โรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์1 โรงเรียนฝางอุปถัมภ์ โรงเรียนรังษีวิทยา โรงเรียนวิทยาลัยการอาชีพฝาง และเยาวชนจิตอาสา จากกรุงเทพฯ จำนวน 4 ราย โดยนักเรียนทุกคนจะได้เข้าร่วมกิจกรรมทำฝาย ทั้งนี้นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมอาสาจะได้รับหนังสือรับรองบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

 



เด็กที่มาร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้การทำฝาย เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้ชุมชน สำหรับฝายดอยคำ เป็นฝายชะลอน้ำประเภทชั่วคราว ทำจากไม้ไผ่ ถูกออกแบบเพื่อความแข็งแรงคงทน ทำหน้าที่ชะลอน้ำในระยะยาวได้ แม้ไม้ไผ่จะผุพังไปแล้ว มีอายุการใช้งาน 1-2 ปี ไม่ทำลายธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นายพิพัฒพงศ์ กล่าว

 


ภายหลังจากออกแรงช่วยทำฝาย ตัวแทนเยาวชนจิตอาสาอย่าง ด.ญ.ลลิตา ชัยสุขศรีส่องฟ้า นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า แม้จะพอทราบมาบ้างถึงประโยชน์ของฝายว่านอกจากช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน และลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย ทำให้ระยะเวลาการไหลของน้ำเพิ่มมากขึ้น ความชุ่มชื้นมีเพิ่มขึ้นและแผ่กระจายความชุ่มชื้นออกไปเป็นวงกว้างในพื้นที่อีกด้วย สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรก ถึงจะแดดร้อนไปบ้างแต่รู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีเพราะได้ลงมือทำจริง ขณะเดียวกันกิจกรรมนี้ยังได้รู้สึกเพื่อนใหม่จากกรุงเทพฯ อีกหลายคนด้วย

 


แม้จะเติบโตในพื้นที่ทว่า ด.ญ.จิรภัทร์ สมบัติรัตนากร เผยประสบการณ์อันน่าประทับใจหลังจากได้ร่วมทำฝายดอยคำครั้งนี้ ด้วยการทำหน้าที่ช่วยลำเลียงไม้ไผ่ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักสำหรับการสร้างฝาย รวมถึงช่วยปลูกหญ้าแฝก ว่าเป็นครั้งแรกที่ได้มาร่วมทำฝายชะลอน้ำ นอกจากความสนุกแล้วยังรู้สึกภูมิใจด้วย เพราะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสิ่งที่จะมาช่วยป้องกันในกรณีที่ฝนตกหนัก ฝายจะช่วยชะลอน้ำไม่ให้ไหลตรงไปในหมู่บ้าน ทำให้เกิดน้ำท่วม หรือทำลายพื้นที่การเกษตร

 

อีกหนึ่งตัวแทนเยาวชนจิตอาสาจากกรุงเทพฯ นิวส์-นางสาวชนกนันท์ พรดิลกรัตน์ เล่าว่าที่ผ่านมาเคยร่วมกิจกรรมต่างๆ กับโรงเรียนมาบ้าง ส่วนการสร้างฝายชะลอน้ำถือเป็นครั้งแรก แต่ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ดีมาก ประการแรกคือได้ลงมือทำจริงๆ ถึงจะเหนื่อย ร้อน แต่สนุกดี ประการต่อมาความรู้เกี่วกับฝายมากขึ้นโดยเฉพาะชนิดของฝาย อย่าง “ฝายดอยคำ” เป็นฝายชะลอน้ำประเภทชั่วคราว จัดอยู่ในประเภทฝายแม้ว ทำจากไม้ไผ่ ถูกออกแบบเพื่อให้มีความแข็งแรงคงทน และสามารถทำหน้าที่ชะลอน้ำในระยะยาวได้ นอกจากนี้ยังมี ฝายไม้แนวเดียว” และ “ฝายคอกหมู” ประการสุดท้ายได้รู้จักเพื่อนๆ ที่มาจากต่างโรงเรียน

 


ปิดท้ายเยาวชนจิตอาสารุ่นจิ๋ว น้องพิณแพง ด.ญ.ศินาถ สารภิรมย์ อายุ 9 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนอนุบาลปัตตานี จ.ปัตตานี ที่ใช้เวลาช่วงปิดเทอมมาร่วมทำฝาย เล่าให้ฟังว่า วันนี้ได้ตอกไม้ไผ่เผื่อทำฝาย โดยมีพี่ๆ จิตอาสามาช่วยสอน และได้ลำเรียงหญ้าแฝกเพื่อมาทำเป็นแผงเหมือนกำแพง ช่วยกรองตะกอนดินและรักษาหน้าดินแม้อากาศจะร้อน แต่สนุกดี ชอบที่ได้มาช่วยกัน และได้รู้จักกับพี่ๆ หลายคน

 

ทั้งนี้ การทำกิจกรรมจิตอาสาดังกล่าว ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 รวมระยะเวลาดำเนินการกว่า 14 ปี สร้างฝายชะลอน้ำช่วยชาวบ้านไปแล้วกว่า 1,500-2,000 ฝาย อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มบุคคลหรือหน่วยงานที่สนใจต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมสร้างฝายชะลอน้ำกับดอยคำ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณป๊อด เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ โทร.084-9509769

 

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง

 

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์