วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2565

เปลี่ยนซังเป็นเงินแสน Smart Energy สร้างรายได้-ลดมลพิษ

 

Smart Energy สร้างรายได้สู่ชุมชน แปลงเปลือกและซังข้าวโพดเป็นเงิน กฟผ.แม่เมาะ หนุนเกษตรกรส่งขายเพื่อผลิตชีวมวลอัดเม็ด หนึ่งใน Smart Energy ที่รักษ์สิ่งแวดล้อม

 “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมปลูกกันมาก เพราะทนแดดทนฝนได้ดี ต้องการน้ำไม่มาก แต่สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาในทุกปีไม่พ้น การจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวและหลังเข้าโรงสีได้เมล็ดข้าวโพดส่งขาย  จะเหลือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ประเภทเปลือกและซังข้าวโพด กองเป็นภูเขาเลากา รวมไปถึงต้นแห้งเหี่ยวหลายร้อยไร่  สิ่งที่ชาวไร่ชาวสวนจัดการกับสิ่งเหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือ  “การเผา”





          เมื่อมีการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกันจำนวนมาก ก็ส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ตามมา กลายเป็นตราบาปของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ว่าเป็นผู้ก่อปัญหามลพิษทางอากาศ จนกระทั่ง การพัฒนาพลังงานทดแทนได้เข้ามาเป็นทางเลือกของประเทศ เพื่อลดสัดส่วนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และเสริมสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศให้มีความมั่นคงมากขึ้น  และประเทศไทยมีผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตพลังงานชีวมวลได้  จึงเป็นการบูรณาการด้านพลังงานและการเกษตรเข้าด้วยกัน

          จังหวะเดียวกับ โครงการ Smart City ของกฟผ.แม่เมาะ ได้เข้ามาตอบโจทย์เรื่องราวต่างๆให้ง่ายขึ้น 




          กฟผ.แม่เมาะ ได้จัดทำโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่  Mea Moh Smart City  นำเสนอความโดดเด่นด้านพลังงานอัจฉริยะ  Smart Energy  เดินหน้านำเชื้อเพลิงชีวมวลเผาไหม้ร่วมกับถ่านหิน  ตามโครงการ Biomass Co-Firing   เพื่อลดปริมาณการปล่อย CO2 และฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผาพื้นที่เกษตรกรรม  โดยการจัดหาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นชีวมวลอัดเม็ด  ซึ่งกลุ่มรับซื้อผลผลิตการเกษตรพืชไร่ บ้านนาแช่ หมู่ 2 ต.จางเหนือ อ.แม่เมาะ  เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ  เนื่องจากในพื้นที่ ต.จางเหนือ มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดมาถึง 13,812 ไร่  และที่บ้านนาแช่ มีพื้นที่ปลูกอยู่ 2,508 ไร่




          นางอุไร ปิงยอม ประธานกลุ่มรับซื้อผลผลิตการเกษตรพืชไร่ บ้านนาแช่  เล่าให้ ลานนาโพสต์ฟังว่า ทำอาชีพปลูกข้าวโพดมานานกว่า 20 ปี ปลูกข้าวโพดประมาณ 120 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ใช้วิธีการเผาเพื่อกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากข้าวโพด อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะวิธีนี้ง่าย เร็ว และถูกกว่าการไถกลบตอซัง ซึ่งต้องใช้เครื่องจักรและแรงงานทำให้ต้นทุนสูง โดยข้าวโพดจะปลูกได้เพียงปีละครั้ง  ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม  ใช้เวลา 3 เดือนจะออกผล เข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยว สีเมล็ดข้าวโพดสำหรับขายในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม จะเห็นภาพภูเขาซังข้าวโพด เปลือกข้าวโพด กองเป็นกองสูง มากถึง 1,000 ตัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำการเผาที่ลานของตัวเอง  แต่กว่าจะเผาหมดต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือน  ส่วนในไร่ก็ยังเหลือส่วนของต้น ตอ และใบ ที่จะต้องปล่อยทิ้งให้แห้งเหี่ยว และทำการเผาในช่วงเดือนมกราคม  




          แม่อุไร เล่าต่อว่า  ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการนำเศษวัชพืชไปเป็นพลังงานชีวมวล จึงเริ่มมีการขายเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากข้าวโพด โดยมีพ่อค้าข้างนอกมารับซื้อ ต่อมาชาวบ้านก็เริ่มมีการรวมกลุ่มกันเพื่อหาช่องทางการขาย และเพื่อให้สามารถต่อรองราคาได้ ในปี 2560 แม่อุไรจึงได้ตั้งกลุ่มรับซื้อผลผลิตการเกษตรพืชไร่ บ้านนาแช่  มีสมาชิกอยู่ 7 คน ตระเวนออกไปขายตามลานรับซื้อต่างๆ  รวมทั้งส่งขายให้กับ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย(ลำปาง) หรือ SCG อ.แจ้ห่ม ด้วย 

ต่อมา กฟผ.แม่เมาะ ได้จัดทำโครงการ Biomass Co-Firing   มีนโยบายรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อย่างเปลือกและซังข้าวโพด เพื่อศึกษาการนำชีวมวลเผาไหม้ร่วมกับถ่านหิน  ด้วยการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรต่างๆ อัดเม็ด และได้มาติดต่อหาซื้อเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร จนมาเจอลานรับซื้อของแม่อุไร  จึงได้เกิดความร่วมมือในการซื้อขายดังกล่าว   ทำให้เกิดการส่งต่อความร่วมมือจากแม่ไปสู่ลูกสาว  น.ส.ณัฐชา ปิงยอม ที่ได้จัดตั้งกลุ่มจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรบ้านนาแช่ ต.จางเหนือขึ้น เพื่อรองรับการซื้อขายเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากเปลือกซังข้าวโพด ให้กับ กฟผ.แม่เมาะ

 



น.ส.ณัฐชา ปิงยอม ประธานกลุ่มจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรบ้านนาแช่   กล่าวว่า  ก่อนหน้านี้ จะต้องนำเศษเปลือกข้าวโพดต่างๆ บรรทุกใส่รถส่งไปขายให้กับ SCG ที่อ.แจ้ห่ม ซึ่งห่างจากลานรับซื้อของแม่อุไรมากเกือบ100 กม. เมื่อ กฟผ.แม่เมาะมีโครงการ Biomass Co-Firing  และติดต่อหาซื้อเปลือกซังข้าวโพดไปทำการทดลอง จึงเป็นโอกาสดีและเป็นทางเลือกที่จะส่งขายได้ใกล้กว่า สะดวกกว่า   โดย กฟผ.แม่เมาะ รับซื้อราคาตันละ 420 บาท  ในปีหนึ่งจะส่งอยู่ประมาณ 1,000 ตัน สร้างรายได้ได้ดี แทนที่จะเผากลายเป็นมลพิษทางอากาศ

“ข้อดีการส่งขายเศษวัสดุเหลือใช้จากข้าวโพดให้กับ กฟผ.แม่เมาะ สิ่งแรกก็คือทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้นมาก  ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งระยะทางไกล เพราะราคาไม่ได้ต่างกันมาก และที่สำคัญคือ ลดการเผาส่วนของเปลือกและซังข้าวโพดด้วย”




แม่อุไร เพิ่มเติมว่า  ตั้งแต่ที่ กฟผ.แม่เมาะ เข้ามารับซื้อส่วนนี้  เราไม่ได้มีการเผาเศษเปลือกและซังข้าวโพดมาหลายปี  ถือว่าลดการเผาไปได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์  ลดการเกิดควันและมลพิษทางอากาศ ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น   แต่ในส่วนของต้น ตอ ใบที่เหลืออยู่ในไร่  ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผาได้  ซึ่งทางผู้ปลูกข้าวโพดจะดำเนินการช่วงเดือนมกราคม ก่อนประกาศช่วงห้ามเผา เพื่อลดปัญหาหมอกควัน หากในอนาคตมีการรับซื้อต้น ตอ ใบ ด้วย  หรือมีวิธีการกำจัดอื่นๆได้นอกจากการเผา  ก็เห็นด้วยและยินดีร่วมมืออย่างมาก เพื่อจะได้ลดการเผาไปได้ 100 เปอร์เซ็นต์   


สำหรับ กฟผ.แม่เมาะ  ได้มีแนวคิดที่จะหาทางบริหารจัดการกับ ต้น ตอ และใบข้าวโพด ที่ตกค้างอยู่ในไร่เช่นกัน   ซึ่งนางฐิติพร สุภาษี  หัวหน้าหมวดส่งเสริม พลังงานสะอาด โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่  บอกว่า  ตอนนี้มีแผนที่จะทดลองนำเครื่องจักรที่ได้รับการสนับสนุนจากสยามคูโบต้าเข้ามาทดลอง นำต้น ตอ ใบมาอัดเป็นก้อนในแปลงของแม่อุไร ช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยก่อนหน้านี้  กฟผ.แม่เมาะ ร่วมกับสยามคูโบต้า ได้ร่วมมือกัน โดยคูโบต้าเป็นเจ้าภาพในการอนุเคราะห์เครื่องจักร  ทดลองในพื้นที่บ้านแม่เกี๋ยง ต.สบป้าด มาแล้ว เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประมาณ 5 ไร่  สามารถอัดเป็นก้อนด้วยเครื่องอัดฟางข้าวของคูโบต้าได้  ซึ่งการนำออกมาจะคุ้มค่าหรือไม่ ยังจะต้องมาทดลองกันอีกครั้ง   

Smart Energy ถือเป็นจิ๊กซอปลายทางในการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาแปลงเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน เม็ดชีวมวล  แต่การนำเศษวัสดุเหลือใช้ออกมาแล้ว  ต้องเอื้อประโยชน์ให้ชุมชนมีรายได้   สามารถลดการเผาเป็นหลัก แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ หากทำตรงนี้สำเร็จ จะได้ประโยชน์ถึง 3 มิติ ที่สิ่งที่ Mae Moh Smart City ขับเคลื่อน 



นางฐิติพร  กล่าวอีกว่า โครงการ Biomass Co-Firing  ถือว่าช่วยลดการเผาด้วยชีวมวล 1,000 ตันนำมาเป็นพลังงานที่สะอาดเผาร่วมกับถ่านหินได้ กฟผ.แม่เมาะมีศักยภาพในโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว  โดยในอนาคตคาดหวังว่าชุมชน เกษตรกรจะสามารถต่อยอดธุรกิจผลิตชีวมวลอัดเม็ด เพื่อส่งออกขายต่างประเทศ หรือขายให้กับ กฟผ.แม่เมาะ ในราคาที่สามารถรับได้  ซึ่งในเบื้องต้นราคาชีวมวลอัดเม็ดหรือ Biomass Pellet ที่ซื้อขายในท้องตลาดปัจจุบันราคาค่อนข้างแพงถึงตันละ 5,000 บาท

จากเศษข้าวโพดที่เคยเป็นได้แค่ขยะ ที่ไม่เคยมีใครเหลียวมอง กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำเงิน สร้างรายได้เกษตรกร  และยังช่วยลดมลพิษทางอากาศ    เพราะโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่   Smart Energy  ทำให้เศษข้าวโพดไม่ไร้ค่าอีกต่อไป 

 








 

 

 

 

 

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์