วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

กฟผ.แม่เมาะ แจงความสำคัญการนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 กลับมาเดินเครื่อง พร้อมรับฟังแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและผู้นำชุมชน อ.แม่เมาะ


เมื่อวันที่ 2 และ 3 พฤศจิกายน 2565 นายประเสริฐ พนมเกียรติศักดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ-2 พร้อมด้วย นายทรงศิลป์ มะโน หัวหน้าหน่วยชุมชนสัมพันธ์ นายประกอบ ปะระมะ หัวหน้าหน่วยวางแผนและบริหารจัดการ โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ และนายอนุชา มากเมือง วิศวกรระดับ 10 ฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ เข้าร่วมการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ อ.แม่เมาะ และการประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.แม่เมาะ เพื่อชี้แจงที่มาและความสำคัญในการนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 กลับมาเดินเครื่อง เสริมกำลังการผลิตในช่วงที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องอื่นๆ หยุดเดินเครื่องหรือซ่อมบำรุง พร้อมรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกับ นายพนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะ หัวหน้าส่วนราชการ อ.แม่เมาะ ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง


ทั้งนี้ สถานการณ์วิกฤตพลังงาน ที่ค่าเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้ามีราคาสูง และเชื้อเพลิงการผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอ ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงได้พิจารณามาตรการจัดหาพลังงานในสถานการณ์วิกฤติเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนผลิตไฟฟ้า ซึ่ง กฟผ. ได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน และสนับสนุนการรักษาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในแผนการดำเนินงานคือการนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 ซึ่งปลดออกจากระบบไปแล้ว กลับมาผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยเริ่มทำการศึกษาเชิงเทคนิค ความเป็นไปได้ในต้นปี 2565 และคาดว่าจะเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้จริงในปลายปี 2565 – 2568 โดยจะเดินเครื่องผลิตในกรณีที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องอื่นๆ ขัดข้องหรือหยุดเดินเครื่อง และควบคุมกำลังการผลิตให้ไม่เกิน 2,455 เมกะวัตต์ (เท่ากำลังการผลิตปัจจุบัน) ไม่เพิ่มผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



การนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 กลับมาเดินเครื่อง เพื่อเป็นกำลังเสริมในช่วงที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องอื่นๆ ขัดข้องหรือหยุดเดินเครื่องนั้น จะช่วยลดผลกระทบด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อภาคประชาชนโดยตรง ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ทั้งช่วยกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงในระบบไฟฟ้า นอกจากนั้นยังทำให้เกิดการจ้างงานใน อ.แม่เมาะอย่างต่อเนื่อง และรักษาสัดส่วนเงินนำเข้าของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ อีกด้วย



Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์