วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2565

10 บทสวดมนต์ข้ามปี ช่วยเสริมความสิริมงคลปีใหม่


การสวดมนต์ข้ามปีมีอานิสงส์มากมายอย่างที่ทุกท่านทราบกัน สรุปความสั้น ๆ คือ ช่วยให้จิตผ่องใสตั้งมั่นเป็นสมาธิ เพื่อเพิ่มบุญบารมีให้ทวีความหนาแน่น และให้ชีวิตมีสิริมงคล ให้มีความสุข ก้าวข้ามสู่ปีใหม่ อย่างมีสติ

ก่อนที่จะเริ่มสวดมนต์ข้ามปี  เตรียมกายและจิตใจให้พร้อม แล้วเริ่มสวดมนต์นั่งสมาธิกัน 


วันนี้มาแนะนำ 10 บทสวดมนต์ ที่ช่วยเสริมสิริมงคล เสริมบารมีในช่วงก้าวข้ามปีไปพร้อมๆกัน 

1.สวดมนต์ทำวัตรเย็น​ (หรือ​รวมถึง​สวดมนต์​ทำวัต​ร​เช้า)
การสวดมนต์ทำวัตรเช้าและเย็นทำให้จิตตั้งมั่น ขณะสวดมนต์ อารมณ์เบื่อ เซื่องซึม ง่วงนอน เกียจคร้านจะหมดไป และเกิดความแช่มชื่นกระฉับกระเฉงขึ้น จะมีสติสัมปชัญญะเพราะขณะนั้นใจจะไปจดจ่ออยู่ที่การสวดมนต์อย่างตั้งใจ ความโลภ โกรธ หลงจะเบาบางลงไป เป็นการกระทำที่ได้ปัญญา ย่อมทำให้ผู้สวดได้บุญ เพราะจิตเป็นสมาธิ เพราะขณะนั้นผู้สวดต้องสำรวมใจแน่วแน่ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ความสงบเยือกเย็นในจิตจะเกิดขึ้น เปรียบเสมือนการได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะขณะนั้นผู้สวดมี กาย วาจา ปกติ (มีศีล) มีใจแน่วแน่ (มีสมาธิ) มีความรู้ระลึกถึงคุณความดีของพระพุทธเจ้า (มีปัญญา) เท่ากับได้เข้าเฝ้าพระองค์ด้วยการปฏิบัติบูชา ครบไตรสิกขาอย่างแท้จริง 


​2. มงค​ลสูตร
เรียกกันว่า”มงคลชีวิต 38 ประการ” เป็น 1 ในพระสูตรสำคัญบทหนึ่งในพระพุทธศาสนาเพราะมีเนื้อหาธรรมะชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนแสดงถึงการปฏิเสธมงคลภายนอก  ที่นับถือเหตุการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นมงคลหรือมีมงคล โดยอธิบายว่าในทัศนะพระพุทธศาสนานั้น มงคลของมนุษย์และเทวดา ย่อมเกิดจากการกระทำอันได้แก่  มงคลภายใน คือต้องกระทำความดี  และความดีนั้นจะเป็นสิ่งที่เรียกว่ามงคลเองโดยไม่ต้องไปอ้อนวอนกราบไหว้ขอมงคลจากนอกตัว

​3.รัตนสูตร
รัตนสูตร พระสูตรนี้พรรณนาคุณของพระรัตนตรัย ประกาศความยิ่งใหญ่ และคุณลักษณะของพระอริยเจ้า มีพระโสดาบัน เป็นต้น จุดประสงค์ของการประกาศพระสูตรนี้ก็เพื่อโปรดชาวเมืองเวสาลีให้รอดพ้นจากภยันตรายทั้งหลาย​ทั้งปวงที่กำลังรุมเร้าเมืองแห่งนี้ และเพื่อยังให้ชาวเมืองทั้งหลายได้มีดวงตาเห็นธรรม รัตนสูตร หรือรัตนปริตร จัดเป็น 1 ในพระปริตรสำคัญพรรณนาอานุภาพของพระรัตนตรัย

​4.โพชฌังคปริตร​
โพชฌังคปริตร เป็นพุทธมนต์ที่มีมาในพระไตรปิฎกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปเยี่ยมพระมหากัสสปะที่อาพาธ พระองค์ทรงแสดงสัมโพชฌงค์แก่พระมหากัสสปะ พบว่าพระมหากัสสปะสามารถหายจากโรคได้

อีกครั้งหนึ่งพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมนี้แก่พระโมคคัลลานะซึ่งอาพาธ หลังจากนั้น พบว่าพระโมคคัลลานะก็หายจากอาพาธได้ ในที่สุด เมื่อพระพุทธองค์เองทรงอาพาธ จึงตรัสให้พระจุนทะเถระแสดงโพชฌงค์ถวาย ซึ่งพบว่าพระพุทธเจ้าก็หายประชวร

โพชฌงค์นั้น สวดแล้วช่วยให้หายโรค ซึ่งเป็นธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเกี่ยวกับปัญญาเป็นธรรมชั้นสูง ซึ่งเป็นความจริงในเรื่องการทำใจให้สว่าง สะอาดผ่องใส ซึ่งสามารถช่วยรักษาใจ เพราะจิตใจมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับร่างกาย เนื่องจากกายกับใจเป็นสิ่งที่อาศัยกันและกัน

บทที่ว่าด้วยองค์ธรรมที่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ มี 7 ประการ คือ

1.สติ ความระลึกได้
2.ธัมมวิจยะ ความสอดส่องธรรม
3.วิริยะ ความเพียร
4.ปีติ ความอิ่มเอมใจ
5.ปัสสัทธิ ความสงบใจ
6.สมาธิ ความตั้งใจมั่น
7.อุเบกขา ความวางเฉย ​


​5.ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นปฐมเทศนา เทศนากัณฑ์แรก ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรมก็ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะ นับเป็นพระสงฆ์สาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนา วันนั้นจึงเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ บังเกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก คือมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ครบบริบูรณ์ หรือที่เรารู้จักกันในวันอาสาฬหบูชานั่นเอง เนื้อหาหลักของบทสวดมนต์แสดงถึงการปฏิเสธส่วนที่สุดสองอย่างและเสนอแนวทางดำเนินชีวิตโดยสายกลางอันเป็นแนวทางใหม่ให้มนุษย์ แสดงถึงขั้นตอนและแนวทางในการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงอริยสัจ 4 คือ อริยมรรคมีองค์ 8 โดยให้เริ่มจากการเดินทางสายกลางก่อน เพื่อดำเนินตามขั้นตอนในการดับความทุกข์ หรือนิพพาน
         
เมื่อสวดมนต์จบแล้ว จิตใจ​จะผ่องใส หากสวดมนต์ให้ได้ทุกวันเพื่อให้จิตสงบและมีสมาธิ แล้วจะมีสติในการดำเนินชีวิต ย่อมส่งผลให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน หากใครได้สวดบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจะทําให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง กิจการมีความเจริญก้าวหน้า อายุยืน มีความสุขกายสุขใจ ปราศจากทุกข์โศกโรคภัย ปลดเปลื้องทุกข์ภัยต่าง ๆ นานา สิ่งเลวร้ายจะกลับกลายเป็นดีขึ้นมาได้ หากสวดประจําจะเป็นมงคลแก่ตัว มีความก้าวหน้า ทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ ละโลกก็ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

​6.บทชัยมงคล​คาถา​
หรือ​“บทสวดพาหุงฯ” หรือ “พุทธชัยมงคลคาถา” คาถาว่าด้วยชัยชนะ 8 ประการ อันเป็นมงคลของพระพุทธเจ้า เนื่อง​จาก​เป็นชัยชนะอย่างสูงสุดของพระบรมศาสดา หากสวดไว้เป็นประจำทุกวัน จะทำให้มีชัยชนะจากศัตรูและอุปสรรคต่างๆ ราบรื่น มีความเจริญรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จ และนอกจากจะคุ้มครองตัวเองแล้วยังช่วยคุ้มครองครอบครัวได้

​7.บทชยปริตร
นิยมเรียกว่า​บทสวด “มหาการุณิโก” เพื่อ​ความเป็นมงคลของชีวิต นิยมสวดคู่กับ “บทชัยมงคล​คาถา”​ หรือ​ บทพาหุงฯ ตามความหมายของมหากรุณิโกนั้น คือ การสวดเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจ ความสุขสวัสดี ความเป็นมงคล ให้บังเกิดแก่ผู้ที่ได้สวด สวดเพื่อขอพรจากพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ดลบันดาลให้โชคดีมีชัย สามารถเอาชนะอุปสรรคทั้งปวงได้


​8.บทสวดสรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ
สวดสรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะนี้ เพื่อรำลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า,​ พระธรรมและพระสงฆ์

โดยการสวดฉันท์ทำนองสรภัญญะมีมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนหน้านั้นนิยมสวดฉันท์ภาษาบาลี มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และผู้สวดส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ทำนองสรภัญญะไม่แพร่หลายนัก ต่อมา พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ป.ธ.8 องคมนตรีและเจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชกาลที่ 5 แปลบทสรรเสริญคุณต่าง ๆ เป็นฉันท์ภาษาไทย เรียก "คำนมัสการคุณานุคุณ" มี 5 ตอน คือ บทสรรเสริญพระพุทธคุณ บทสรรเสริญพระธรรมคุณ บทสรรเสริญพระสังฆคุณ บทสรรเสริญมาตาปิตุคุณ และบทสรรเสริญอาจาริยคุณตามลำดับ บทประพันธ์นี้ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน และเนื่องจากบาทแรกเริ่มว่า "องค์ใดพระสัมพุทธ" จึงมักเรียกว่า "บทองค์ใดพระสัมพุทธ"

นอกจากบทสรรเสริญพระรัตนตรัยแล้ว ทำนองสรภัญญะยังใช้สวดคาถาบทอื่นอีก เช่น บทแปลคาถาพาหุงซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ซึ่งเริ่มว่า "ปางเมื่อพระองค์ปรมพุทธ"


​9.บทสรรเสริญ​พระ​ธรรมกาย​  หรือ​ธรรมกายานุสติกถา
การสวดมนต์สรรเสริญ​พระ​ธรรมกาย​นับเป็นการทำความดีครบถ้วนทั้งกาย มีอาการสงบเรียบร้อยและสำรวม, วาจา เป็นการกล่าวถ้อยคำสรรเสริญถึงพระคุณอันประเสริฐ และน้อมใจเคารพต่อพระธรรม​กายอันเป็นกายแห่งธรรม หรือ กายแห่งการตรัสรู้ธรรม


10.บทสวดสรรเสริญพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) 
การสวดมนต์สรรเสริญ​พระ​มงคล​เทพ​มุนี​นับเป็นการทำความดีครบถ้วนทั้งกาย มีอาการสงบเรียบร้อยและสำรวม, วาจา เป็นการกล่าวถ้อยคำสรรเสริญถึงพระคุณอันประเสริฐ และน้อมใจเคารพต่อพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย เพราะการค้นพบวิชชาธรรมกายอันเป็นของจริงของแท้ เป็นทางบรรลุธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงบรรลุแล้ว เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ท่านจึงได้คำนึงว่า

“คมฺภีโรจายํ ธรรมเป็นของลึกถึงเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึกนึกคิด ถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง ที่จะเข้าถึง ต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิดนั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด ตรองดูเถิดท่านทั้งหลาย นี้เป็นของจริง หัวต่อมีเป็นอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้ ก็ไม่มีไม่เป็นเด็ดขาด”

ที่มา :
1.วิมุตติสูตร
 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=461&Z=514
2.พร้อมทั้งพระสูตรต่างๆ ที่อ้างถึงในบทสวดมนต์
3.หนังสือสวดมนต์และอานิสงส์สวดมนต์, บทความต่างๆ เกี่ยวกับการสวดมนต์และอานิสงส์การสวดมนต์
4.คลิปสวดมนต์ต่าง ๆ จาก YouTube

ขอบคุณข้อมูลจาก เพจศูนย์ปฏิบัติธรรมลำปาง 
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์