นายพัฒนพงศ์ ขันทา ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กล่าวถึงที่มาในการดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 8 เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ได้นำเสนอโครงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 8 เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล แก่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในโอกาสลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของ กฟผ.แม่เมาะ เมื่อเดือนกันยายนและพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการมอบหมายให้ กฟผ. หาทางนำเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เข้ามาทดแทนก๊าซธรรมชาติ เพื่อบรรเทาภาวะวิกฤตพลังงานแพงพร้อมตอบโจทย์นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศไทย กฟผ.แม่เมาะ จึงต่อยอดโครงการทดลองนำชีวมวลอัดเม็ดเผาไหม้ร่วมกับถ่านหินของโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 12 และ 13 โดยเริ่มดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 8 ให้เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ภายใต้คณะทำงานบูรณาการศึกษาการปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 8 เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล มีผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 เป็นประธาน แบ่งเป็น 3 คณะ คือ 1.คณะทำงานศึกษาด้านเชื้อเพลิง มีหน้าที่ศึกษาศักยภาพและแนวทางรายละเอียดของการจัดหาการบริหารจัดการด้านเชื้อเพลิงชีวมวล และออกแบบระบบรางในการลำเลียงเชื้อเพลิงชีวมวลและการขนส่งที่เหมาะสม 2. คณะทำงานศึกษาด้านการปรับปรุงอุปกรณ์เพื่อรองรับเชื้อเพลิง มีหน้าที่ศึกษาด้านการปรับปรุงโครงสร้างและอุปกรณ์โรงไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยประยุกต์ต้นแบบการปรับปรุงจากโรงไฟฟ้าชีวมวลในต่างประเทศ และ 3. คณะทำงานศึกษาด้านผลกระทบโครงสร้างค่าไฟฟ้า มีหน้าที่ศึกษาด้านผลกระทบต่อโครงสร้างค่าไฟฟ้า ตลอดจนรายละเอียดที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และการขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง
นายพัฒนพงศ์ ขันทา ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการฯว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ผู้บริหาร กฟผ.แม่เมาะ ได้ประชุมร่วมกับ Drax Power Station ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดใหญ่ในสหราชอาณาจักร เพื่อหารือความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งในอนาคตหากโครงการได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการจะมีการรับซื้อชีวมวลกว่า 1.3 ล้านตันต่อปี จากชุมชน อ.แม่เมาะ และชุมชนในภาคเหนือ นอกจากนั้นการนำเศษวัชพืชทางการเกษตรมาผลิตเป็นชีวมวลอัดเม็ดจะช่วยลดการเผาในพื้นที่โล่งแจ้ง ลดปัญหา PM2.5 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ทั้งยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนของ กฟผ. อีกด้วย
Drax Power Station ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลยอร์กเชอร์ (North Yorkshire) สหราชอาณาจักร เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 และเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร โดยปัจจุบันได้ปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้สามารถใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนถ่านหิน และได้หยุดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดตามนโยบาย Net Zero Carbon ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรแล้วเมื่อเดือนกันยายนปี ค.ศ. 2022 ซึ่งการร่วมมือของ กฟผ. และ Drax Power Station ในครั้งนี้ จะช่วยให้ กฟผ. ได้องค์ความรู้ในการปรับปรุงระบบโรงไฟฟ้าถ่านหินให้สามารถรองรับชีวมวลได้ 100% จากผู้เชี่ยวชาญของ Drax Power Station ตลอดจนการออกแบบอุปกรณ์ลำเลียง และการคำนวณความคุ้มค่าในการลงทุน และปริมาณสัดส่วนเศษวัสดุทางการเกษตรให้เหมาะสมกับอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น