วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2565

เสน่ห์สถาปัตย์วัดพม่างามในลำปาง...Amazing ยิ่งกว่าเดิม

  


เมื่อมาถึงลำปาง...อาจจะสงสัยว่าทำไมอาคารบ้านเก่าและวัดจึงมีรูปทรงแปลกๆ มีพุทธลักษณะของพระพุทธรูปแตกต่างกันไป จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ลิลิตพายัพ พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 6 ทรงประพันธ์ลิลิตขณะเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือมีความว่า มีพวกชนชาติพม่ามาเข้าเฝ้าฯรับเสด็จด้วย ปรากฏอยู่แทบทุกเมือง ทว่าชาวพม่าเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มคนที่สืบเชื้อสายมาตั้งแต่อดีต เพียงมาอาศัยตั้งรกรากในล้านนาจน รัชสมัยรัชกาลที่ จากการทำสัมปทานป่าไม้ระหว่างล้านนากับอังกฤษ ชาวพม่าทั้งที่เป็นคนในบังคับอังกฤษและเป็นแรงงานทั่วไป จึงเข้ามาเป็นแรงงานตัดไม้ รวมถึงคหบดีพ่อค้าพม่าและชาวอังกฤษ และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อาทิ ชาวมอญ และชาวไทยใหญ่ ชาวพม่ายังมีความศรัทธาต่อพุทธศาสนา การสร้างวัดจึงไม่ใช่เพียงเพื่อถวายความเคารพต่อป่าไม้ที่ตนตัด  แต่ยังเป็นการถวายเป็นพุทธบูชาอีกทางหนึ่ง

ในจังหวัดลำปางวัดพม่าเริ่มเป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์สุริโยไท ที่เลือกวัดศรีชุมเป็นสถานที่ถ่ายทำ จนเกิดกระแสการเดินทางมาท่องเที่ยว พร้อมกับแนวคิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น  นอกจากนี้ละครเรื่องรากนคราถ่ายทำที่วัดศรีรองเมือง กลายเป็นที่เล่าขานถึง และยังมีวัดอื่นๆ ที่เมื่อทุกท่านมาเยือนลำปางแล้วไม่ควรพลาด

1.“วัดศรีชุมอ.เมือง จ.ลำปาง สร้างในปี พ.ศ.2433 เป็นวัดพม่าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาวัดพม่า เป็นวัดที่มีความสมบูรณ์แบบ เนื่องจากมีพร้อมทั้งจอง(วิหาร) อุโบสถ เจดีย์ กุฏิ และซุ้มประตูโขง ความโดดเด่นของวัดนี้คือจองหรือวิหาร เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ มีหลังคายอดปราสาททรงพม่า ได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.2524 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2535 เกิดเพลิงไหม้จองทั้งหลัง เหลือเพียงไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาฉลุโปร่งรวมถึงตรงซุ้มประตูทางขึ้นจองเท่านั้น ปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่ตามสถาปัตยกรรมแบบเดิม และนำชิ้นส่วนเครื่องประดับอาคารที่ถูกไฟไหม้ไปจัดแสดงไว้ด้านหลังจอง ภายในมีภาพกิจกรรมฝาผนังพุทธประวัติและภาพจำลองแผนผังของวัด สำหรับเจดีย์วัดศรีชุม เป็นทรงกลมก่ออิฐถือปูนแบบพม่า รอบคอระฆังมีลวดลายปูนปั้น ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากพม่า เจดีย์นี้ตั้งอยู่ข้างอุโบสถ ส่วนอุโบสถนั้นมีกำแพงล้อมรอบ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 



2.“วัดป่าฝางอ.เมือง จ.ลำปาง สร้างในปี พ.ศ.2435  วัดแห่งนี้สถาปัตยกรรมเป็นแบบพม่าทั้งหมด มีเจดีย์เป็นรูปทรง 8 เหลี่ยม ประดับพระพุทธรูปและสัตว์ประจำทิศและประจำวันเกิด ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากพม่า ส่วนในอุโบสถนั้นประดิษฐานพระพุทธรูปปางฉันสมอ(ยา) ซึ่งปางนี้มีประวัติโดยพระอินทร์ได้ถวายผลสมอเป็นพระโอสถก่อนพระพุทธเจ้าจะเสวยพระกระยาหาร ด้วยเหตุนี้พระพุทธรูปปางฉันสมอจึงสื่อถึงการรักษาโรค มักจะมีคนมาขอพรเรื่องสุขภาพที่วัดแห่งนี้ และยังมีจอง(วิหาร)ไม้ขนาดใหญ่ แบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน ส่วนแรกด้านซ้ายเป็นพื้นที่เก็บพระธรรมคัมภีร์ ส่วนที่ 2 เป็นส่วนของพระประทานประดิษฐานอยู่กลางอาคาร และส่วนที่ 3 เป็นพื้นที่เอนกประสงค์และกุฏิสงฆ์

 


3.“วัดจองคา(วัดไชยมงคล) อ.เมือง จ.ลำปาง สร้างในปี พ.ศ.2441 และเมื่อ 300 กว่าปี เคยใช้เป็นที่ประหารนักโทษ เป็นที่รวมพลนักรบไทยโบราณ และนักรบล้านนา อาคารศาสนสถานที่โดดเด่นคือ จอง ที่ก่ออิฐถือปูน ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2559 ประเภทอาคารศาสนสถาน มีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานแบบยุโรปกับพม่า ด้านหน้าทางขึ้นจอง เสามุกบันไดประดับด้วยโครงโลหะฉลุเป็นลายพรรณพฤกษา ปั้นรักปิดทองประดับด้วยกระจกสี ทำเป็นรูปเทพพนม รูปสัตว์หิมพานต์ และเทพเจ้าแห่งความรัก หรือ คิวปิด รวมถึงดาวเพดานประดับด้วยนกยูงเป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์ และกระต่ายเป็นสัญลักษณ์ของพระจันทร์ และยังมีเทพพนมประดับไว้โดยรอบ หากสังเกตจะพบว่าองค์เทพพนมโดนหักเศียร เนื่องจากอดีตมีทหารญี่ปุ่นที่มาพักค้างแรมหักทำลาย

ส่วนภายในมีพระประทานสำริดทรงเครื่อง ปางมารวิชัยศิลปะพม่า นามว่า พระพุทธไชยมงคล หรือ  พระมหามัยมุนี และบัลลังค์จำลองพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งนำมาจากเมืองมัณฑเลย์ ประเทศพม่า รวมถึงองค์เทพทันใจ ซึ่งมักจะมีนักท่องเที่ยวมาขอพรอยู่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์แบบพม่าอยู่หลังวิหาร สร้างในปี พ.ศ.2460

 


4. วัดม่อนจำศีลอ.เมืองจ.ลำปาง สร้างในปี พ.ศ.2424 ภายในวัดมีเจดีย์ทรงศิลปะพม่า 3 องค์ มีองค์เจดีย์ทอง องค์เจดีย์อรหันต์ 8 ทิศ และองค์เจดีย์พระฤาษี แต่ปัจจุบันค่อนข้างชำรุดทรุดโทรม วัดนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ มีลักษณะที่แปลกกว่าการสร้างพระพุทธรูปอื่นๆ คือ มีการบรรจุหัวใจพระเจ้าคล้ายกับหัวใจมนุษย์ และบรรจุวัตถุมลคลของมีค่าไว้ในพระพุทธรูปด้วย

นอกจากนี้ยังมีวิหารไม้สักโบราณ ที่สร้างตามสถาปัตยกรรมพม่า มีหลังคาซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ อายุเก่าแก่นับร้อยปีมีความงดงาม ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก แต่ปัจจุบันได้รับการบูรณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 


5. วัดม่อนปู่ยักษ์ อ.เมือง จ.ลำปาง ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ สร้างในปี พ.ศ.2442 มีเจดีย์ศิลปะพม่าตั้งอยู่บนฐานประทักษิณขนาดใหญ่ที่มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ใกล้เจดีย์มีวิหารสถาปัตยกรรมคอนกรีตแบบโคโรเนียล มีสิ่งที่น่าสนใจและทรงคุณค่าภายในคือ มีงานจิตรกรรมแบบพม่าบ่งบอกถึงวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวพม่า ถือเป็นงานจิตรกรรมแบบสกุลช่างพม่าที่สำคัญแห่งหนึ่ง ส่วนด้านนอกวิหารมีสถาปัตยกรรมพิเศษคือซุ้มกรรมฐานขนาดเล็กก่ออิฐถือปูน ใช้สำหรับนั่งวิปัสสนากรรมฐานของพระสงฆ์ ส่วนจองเป็นอาคาร 2 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบพม่าครึ่งปูนครึ่งไม้ ด้านในมีพระประทานประดับตกแต่งด้วยงานลายคำและงานปั้นรักประดับกระจกสี ส่วนอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนศิลปะตะวันตก เรียกกันว่าวิหารโปรตุเกส ตกแต่งด้วยไม้แกะสลัก และลายปั้นรักกระแหนะ ประดับกระจกสี ปิดทอง

 


6. “วัดศรีรองเมืองอ.เมือง จ.ลำปาง สร้างในปี พ.ศ.2447 โดดเด่นด้วยจอง(วิหาร)หลังใหญ่สร้างด้วยไม้สัก หลังคาซ้อนชั้นแบบพม่า มีลายฉลุบนสังกะสี ภายในจองมีเสาไม้ประดับตกแต่งด้วยการปั้นรักเป็นลายเครือดอกไม้ พรรณพฤกษา และประดับด้วยกระจกหลากสี มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะพม่า ที่สร้างด้วยไม้สักทองอายุร้อยกว่าปี

อุโบสถ เป็นตึกรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า รอบอาคารมีเสาปูนโดยหัวเสาประดับลายปูนปั้นแบบเสาโรมัน ภายในอาคารด้านในสุด เป็นฐานชุกชีประดิษฐานพระประทาน  เป็นอีกหนึ่งวัดที่มีคนมาเที่ยวและขอพรจากองค์เทพทันใจที่นำมาจากพม่า  และอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ วัจกุฏี(ส้วม)  ที่ยังมีให้เห็นอยู่ เป็นไม้ หลังคาจั่วซ้อนชั้นมุงไม้แป้นเกล็ด เชิงชายเป็นสังกะสีฉลุลาย อยู่ในสภาพทรุดโทรม

 


7. วัดท่ามะโออ.เมือง จ.ลำปาง สร้างในปี พ.ศ.2437 วัดแห่งนี้ขึ้นชื่อในเรื่องการเรียนบาลีใหญ่ ซึ่งพระอาจารย์ อู ธัมมานันทะ ธัมมาจริยะ อดีตเจ้าอาวาส ได้วางรากฐานและเปิดสำนักสอนบาลีใหญ่ จนถึงปัจจุบันก็ยังมีการเรียนการสอนอยู่ นอกจากนั้นภายในวัดยังมีสิ่งก่อสร้างที่เป็นศิลปะพม่าที่น่าสนใจหลายอย่าง ทั้งอุโบสถที่สร้างด้วยปูนทั้งหลัง ภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปศิลปะพม่า ปางมารวิชัย และมีประวัติวัดท่ามะโอ รวมถึงประวัติของอดีตเจ้าอาวาสให้ได้ศึกษา ส่วนจองมีขนาดเล็กศิลปะพม่า โครงสร้างหลังคาเป็นจั่วชั้นเดียว  ซ้อนด้วยหลังคาแบบคลุม 2 ชั้น  ซึ่งจะแตกต่างจากจองวัดพม่าอื่นๆ ภายในจองประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะพม่า ส่วนเจดีย์เป็นศิลปะผสมผสานล้านนากับพม่า รอบๆ เจดีย์มีซุ้มศิลปะพม่าทั้ง 4 ด้าน ภายในพระเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์

 


8. วัดป่ารวกอ.เมือง จ.ลำปาง สร้างในปี พ.ศ.2470 เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ ทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ดั้งเดิมของลำปาง เนื่องจากบริเวณวัดนี้เป็นชัยภูมิสำคัญสมัยสร้างเมืองลำปาง  และมีความเกี่ยวเนื่องกับค่ายสุรศักดิ์มนตรีลำปาง  และเชื่อมโยงกับพระนางจามเทวีด้วย

วิหารเป็นศิลปะพม่า ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ศิลปะแบบมัณฑเลย์ เรียงกันบนฐานชุกชี 5 องค์ ประดับด้วยงานปั้นรักกระแหนะ ประดับกระจกสีต่างๆ ​ส่วนเจดีย์แม้ดูทรุดเอียงตามกาลเวลา แต่ยังคงเอกลักษณ์ความงามแบบพม่า ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติตามประกาศกรมศิลปากร เมื่อปี 2537 นับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้อารยะธรรมที่สืบทอดกันมา​ ซึ่งมักจะมีประชาชนทั่วไปเข้ามาเที่ยวชมไม่ขาดสาย

 


9. วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม พระอารามหลวง อ.เมือง จ.ลำปาง สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏ มณฑปแบบพม่ามีจารึกระบุว่า เริ่มสร้างเมื่อพ.ศ. 2452 พม่าเรียกว่า เปียตั๊ด หมายถึงปราสาท ตัวมณฑปตั้งชิดอยู่ทางทิศใต้ของพระบรมธาตุดอนเต้า อาคารเป็นทรงสี่เหลี่ยมย่อมุม หลังคาเป็นทรงปราสาท แสดงความเป็นเรือนฐานันดรสูงด้วยรูปจำลองของเรือนซ้อนชั้นลดหลั่น แต่ละชั้นมีจั่วและผนังเรือน 7 ชั้น ยอดบนสุดเป็นปลีและฉัตร หลังคาทางเข้าด้านหน้าประดับด้วยลวดลายไม้แกะสลัก ตั้งแต่ยอดจั่วจนถึงเชิงชายหน้าบัน และโก่งคิ้วประดับลายพรรณพฤกษาแบบตะวันตก หัวเสาตกแต่งด้วยงานปั้นรักประดับกระจกเป็นลายกลีบบัว นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นเทวดาฝรั่ง ที่เรียกว่า กามเทพ ส่วนพระประธานประจำวิหาร ประดิษฐานอยู่ด้านในสุด ภายในอาคารมีการประดับเต็มพื้นที่ มีงานปั้นรักประดับกระจก ลวดลายประดับเสา ลวดลายและสีสันของดาวเพดาน

 


10. วัดพระเจดีย์ซาวหลัง พระอารามหลวงอ.เมือง จ.ลำปาง สร้างในปี พ.ศ.2461 วัดพระเจดีย์ซาวหลัง คำว่า ซาว เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ยี่สิบ ส่วนคำว่า หลัง แปลว่า องค์ รวมความหมายแล้วแปลว่า พระเจดีย์ 20 องค์ ลักษณะการสร้างเป็นเจดีย์ขนาดเล็กศิลปะพม่าผสมล้านนา มีองค์เจดีย์ใหญ่สุดอยู่ตรงกลาง เชื่อกันว่าหากใครนับได้ครบ 20 องค์ ถือว่าเป็นผู้มีบุญ

จากหลักฐานการขุดพบพระเครื่องสมัยหริภุญชัยที่องค์พระเจดีย์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า วัดนี้สร้างมานานกว่าพันปี  มีความเชื่อกันว่าภายในแต่ละเจดีย์มีพระเกศาธาตุบรรจุอยู่  ส่วนข้างเจดีย์นั้นมีวิหารหลังเล็ก ประดิษฐานพระพุทธสำริดปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน ชาวบ้านเรียกว่าพระเจ้าทันใจ  และในปี พ.ศ.2526 ชาวบ้านขุดพบพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์หนัก 100 บาท 2 สลึง มามอบให้กับทางวัด พระพุทธรูปองค์นี้ชื่อว่า พระแสนแซ่ทองคำ ปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ

 


11. วัดจองคำ พระอารามหลวง อ.งาว จ.ลำปาง สร้างในปี พ.ศ.2414 ด้านนอกมีแนวกำแพงยาวกว่า 200 เมตร เป็นที่สะดุดตาของนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมา จะสังเกตเห็นซุ้มประตูสีทอง 2 ซุ้ม ศิลปะแบบไทใหญ่สวยงาม ในอดีตภายในวัดมีวิหารชัยภูมิศิลปะแบบไทยใหญ่  แต่ปัจจุบันได้ถูกรื้อย้ายไปไว้ ณ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ  วิหารไม้หลังที่เห็นปัจจุบันเป็นศิลปะที่สร้างขึ้นมาใหม่เมื่อเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2549

อีกหนึ่งความอลังการภายในวัดแห่งนี้คือ พระมหาเจดีย์พุทธคยา ที่ถอดแบบทุกตารางนิ้วมาจากประเทศอินเดีย ดำเนินการก่อสร้างโดย หลวงปู่โอภาส โอภาโส เจ้าอาวาสวัด และยังได้สร้างพระอุโบสถศาสโนทัย  สีทองอร่ามศิลปะแบบไทยใหญ่  ภายในมีองค์พระมหามัยมุนีสีทองอร่าม  จึงทำให้ปัจจุบันวัดจองคำกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดลำปาง

 


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์