วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

รัก(ษ์)สุขภาพ...ปิดท้ายเดือนแห่งรัก “กินคลีน..อย่างไร? ไม่ให้เป็น ”โรคคลั่งกินคลีน”


“ความรัก” เป็นสิ่งสวยงามเสมอ แต่ถ้ารักมากเกินเบอร์ย่อมส่งผลเสียไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เรื่องของการ “รัก(ษ์)สุขภาพ” ก็เช่นกัน ดังนั้นสัปดาห์นี้ของส่งท้ายเดือนแห่งความรักมาให้แก่คนที่ดูแลตัวเองด้วยการรับประทาน “อาหารคลีน” กับประเด็น “กินคลีน..อย่างไร? ไม่ให้เป็น ”โรคคลั่งกินคลีน”

 

หากจะกล่าวถึงอาหารเพื่อสุขภาพ เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก อาหารคลีน  เพราะกระแสอาหารคลีนเพื่อสุขภาพมาแรงมากในช่วงไม่กี่ปีผ่านมา การกินอาหารคลีนเป็นประจำ ที่สะดวก เหมาะกับวิถีชีวิตประจำวันของแต่ละท่าน จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน ป้องกันการเกิดโรคไม่เรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงได้ แต่หากท่านมีความวิตกกังวลร่วมกับการกินอาหารคลีน ท่านอาจจะเป็น “โรคคลั่งกินคลีน?” วันนี้มาลองหาคำตอบกันค่ะ


โรคคลั่งกินคลีน (Orthorexia) คือ พฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ (Eating Disorders) ชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะมีความกังวลเกี่ยวกับอาหาร จะคำนึงถึงและเลือกกินเฉพาะอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder) ร่วมด้วย


จะทราบได้อย่างไรว่าตัวเองกำลังเป็นหรือจะเป็นโรคคลั่งกินคลีนหรือไม่ ง่ายๆ เพียงสังเกตตัวเองว่ามี 6 พฤติกรรมดังต่อไปนี้หรือไม่?...
1.เช็คส่วนประกอบของอาหารและฉลากโภชนาการอย่างเคร่งครัดทุกครั้งที่เลือกซื้ออาหาร 2.งดกินอาหารบางอย่างที่คิดว่าไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต อาหารที่มีน้ำตาล อาหารที่มีไขมัน ผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจากสัตว์ทุกชนิด เป็นต้น 3.กินอาหารออร์แกนิค ปลอดภัย หรือต้องมีสัญลักษณ์บอกว่า ไม่ผ่านการแปรรูป และต้องดีต่อสุขภาพเท่านั้น 4.สนใจการกินของคนอื่นมากกว่าปกติ ว่าการกินนั้นจะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร 5.ใช้เวลานานในการนึกถึงอาหาร หรือคิดเมนูอาหารที่ต้องมีประโยชน์ในมื้อถัดไป 6.รู้สึกกังวลมาก ถ้ามื้อไหนไม่มีอาหารที่ปลอดภัยหรืออาหารที่ดีต่อสุขภาพ

 

ผู้ป่วยโรคนี้จะเข้าใจว่าพฤติกรรมการกินอาหารของตนเองนั้น คือการเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่ไม่อาจทราบเลยว่าสิ่งที่ตนทำอยู่นั้นเป็นการทำลายชีวิตความเป็นอยู่ปกติ มีผลต่อสภาพจิตใจและอาจทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ เช่น

 

หากผู้ป่วยไม่กินเนื้อสัตว์ ทำให้ร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ น้ำหนักลด ภูมิคุ้มกันโรคไม่ดี เจ็บป่วยได้ง่าย 

 

หากไม่กินอาหารที่มีไขมัน ร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงพอ ไม่สามารถดูดซึมวิตามินที่ต้องละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค

หากผู้ป่วยไม่กินคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล อาจทำให้ได้ร่างกายขาดพลังงาน สมองอาจขาดกลูโคสส่งผลให้มีอาการเบลอ มึนงง สมาธิในการทำงานอาจลดลงได้ และหากผู้ป่วยรายนั้นเป็นเบาหวานและได้รับยาเบาหวานบางชนิดหรืออินซูลินอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้ (Hypoglycemia)

ดังนั้น การกินอาหารคลีน คือการเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้หลากหลาย ในปริมาณที่เหมาะสม หากบอกว่ากินคลีน โดยไม่กินหรืองดอาหารบางอย่าง จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารบางชนิด ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการทำงานของร่างกายที่ผิดปกติได้ นอกจากนี้การมีความวิตกกังวลต่อการเลือกกินอาหารคลีนมากเกินไปก็ถือเป็นความผิดปกติที่ควรได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือการรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาร่วมด้วย

กอบแก้ว แผนสท้าน....เรื่อง

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์