ยืนหยัดด้วยความสง่างามเคียงคู่เมืองลำปางมานานถึง 106 ปี สำหรับ สะพานรัษฎาภิเศก หรือ “ขัวสี่โก๊ง (สะพานสี่โค้ง)” “ขัวหลวง (สะพานใหญ่)” “ขัวขาว (สะพานขาว)” ตั้งอยู่ที่ถนนรัษฎา เป็นสะพานข้ามแม่น้ำวัง ตั้งอยู่ในเขตตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปางแม้ว่าจะมีอายุอานามมากกว่า 1 ทศวรรษ ทว่าความงดงามซึ่งนับเป็นกำลังสำคัญในการทำหน้าที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวไปแวะชมและถ่ายภาพเก็บเป็นที่ระลึกแล้ว เรื่องราวประวัติความเป็นมาของสะพานแห่งนี้ก็มีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ด้วยเหตุนี้ “สะพานรัษฎาภิเศก” จึงได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คจังหวัดลำปาง
จากหนังสือ “๒ ฟากแม่วังฝั่งนครลำปาง” เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสะพานรัษฎาฯ ไว้ว่า แต่เดิมการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำวังนั้นยังใช้วิธีการสร้างสะพานไม้ไผ่สานง่ายๆ ที่เรียกว่า “ขัวแตะ” ไว้ใช้ชั่วคราว น้ำไหลเชี่ยวกรากเมื่อไรก็พัดขัวแตะพังไป แต่ต่อมาเมื่อลำปางเจริญด้วยกิจการป่าไม้และการค้าขาย มีชาวต่างชาติทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส พม่า และจีนเข้ามาทำกิจการต่างๆ มากขึ้นจึงมีการสร้างสะพานที่แข็งแรงทนทานเพื่อประโยชน์ในการสัญจร
เมื่อนั้นจึงมีการสร้างสะพานรัษฎาภิเศกรุ่นแรกขึ้นในปี 2436 ในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตเป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่แรกสร้างเป็นสะพานไม้มีความยาว 120 เมตร เชื่อว่าชื่อ “รัษฎาภิเศก” นั้นมีที่มาจากการสร้างสะพานเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีรัชดาภิเษกรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานนาม “รัษฎาภิเศก” ให้กับสะพานแห่งนี้
แต่ต่อมาในปี 2444 สะพานไม้รุ่นแรกได้พังลงเนื่องจากทนแรงกระแทกจากท่อนซุงในยามน้ำหลากไม่ไหว จึงได้มีการสร้างสะพานขึ้นใหม่เป็นรุ่นที่สอง เป็นสะพานไม้เสริมเหล็กไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสร้างเสร็จเมื่อใด มีเพียงหลักฐานจากกรมโยธาธิการว่าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช เสด็จมาเปิดสะพานเมื่อเดือนมกราคม ปี 2448
แต่สะพานไม้เสริมเหล็กก็ยังคงต้านกระแสน้ำและท่อนซุงไม่ไหว พังลงไปอีกครั้ง หลังจากนั้นจึงได้มีการก่อสร้างสะพานรุ่นที่ 3 ขึ้นใหม่ในเดือนมีนาคม 2460 คราวนี้สร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยมี พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้ควบคุมดำเนินการก่อสร้าง ส่วนวิศวกรผู้ควบคุมเป็นชาวเยอรมัน
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ได้ทาสีพรางตาและด้วยการอ้างว่าสะพานแห่งนี้ไม่มีประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ จึงรอดจากโจมตีทิ้งระเบิดมาได้ หลังจากนั้นได้มีการก่อสร้างใหม่เมื่อเดือนมีนาคม 2460 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก นับเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความคงทนกว่าสะพานรุ่นเดียวกันที่ไม่เหลือให้เห็นแล้วในปัจจุบัน บริเวณหัวสะพานมีองค์ประกอบต่างๆ ที่สื่อความหมายสำคัญดังนี้ เสาสี่ต้น ที่ตั้งอยู่หัวสะพานฝั่งละสองต้น หมายถึงความมั่นคงแข็งแรง ครุฑสีแดง ด้านหน้าของเสาทุกต้น เป็นตราสัญลักษณ์ของแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 6 พวงมาลัย ยอดเสาทั้งสี่ด้านของเสา หมายถึง การรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสุดท้าย ไก่หลวง หรือ ไก่ขาว ตรงกลางเสา เป็นสัญลักษณ์ประจำนครลำปาง
ปัจจุบันสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำร่วมรุ่นบนเส้นทางรถไฟสายเหนือล้วนผุพังลงหมด แต่ “สะพานรัษฎาภิเศก”ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ เป็นสะพานที่สะท้อนถึงอารยธรรมสมัยขนส่งรถไฟหลวงและสินค้าก่อสร้างปูนซีเมนต์ไทยตามพระราชปรารภของรัชกาลที่ 6 ที่ยังคงอยู่ และด้วยความที่ “สะพานรัษฎาภิเศก” แห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของถนนคนเดินกาดกองต้า ถนนคนเดินชื่อดังของลำปาง ทำให้เป็นจุดเช็คอินที่หลายๆ คน ไม่พลาดมาถ่ายรูป
และเพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดลำปาง ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สู่การนำทุนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดลำปางมาสร้างรายได้ให้กับชุมชน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ปลุกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญ รู้สึกรัก หวงแหน และเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สะพานรัษฎาภิเศกให้คงอยู่คู่นครลำปางต่อไปเทศบาลนครลำปาง จึงได้กำหนดจัดงาน “รำลึกประวัติศาสตร์สะพานรัษฎาภิเศก” มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
โดยในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มีนาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป ณ สะพานรัษฎาภิเศก และพื้นที่โดยรอบ สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย นิทรรศการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ นิทรรศการภาพถ่ายและภาพวาด กิจกรรมสาธิตงานประดิษฐ์ การทำบุญตักบาตรครบรอบ 106 ปี การแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงดนตรี การแสดงแสง สี เสียง กิจกรรมประกวดวาดภาพ การจำหน่ายอาหารและสินค้าของท้องถิ่น
กอบแก้ว แผนสท้าน..เรื่อง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น