แพทย์อาสาเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าอยู่หัว-ราชินี ที่ รพ.พระปกเกล้า จันทบุรี สำเร็จตามเป้า ให้บริการประชาชน-พระสงฆ์กว่า 30,000 ราย ใน 28 คลินิก รวมจัดแล้ว 10 ครั้ง ให้บริการกว่า 80,000 ราย ปีหน้าจัดอีกที่อยุธยา
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 21 พฤษภาคม 2566 ณ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา รองประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ครั้งที่ 8 ประจำปี 2566 ซึ่งมีมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา สถาบันพระปกเกล้า และนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 10 (ปธพ.10) เป็นผู้จัดโครงการ ระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤษภาคม 2566 ณ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี โดยมีนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา พลอากาศโท นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์และเลขาธิการแพทยสภา ศาสตราจารย์คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ประธานนักศึกษา ปธพ.10 นายแพทย์ธีรพงศ์ ตุนาค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า พร้อมด้วยคณะนักศึกษาหลักสูตร ปธพ.รุ่นที่ 1-10 แพทย์ และประชาชนจิตอาสาจากทุกสาขาอาชีพร่วมโครงการฯอย่างพร้อมเพรียง
สำหรับโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ครั้งที่ 8 ประจำปี 2566 ได้มีขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤษภาคม 2566 ณ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี สามารถตรวจรักษาผู้ป่วย ประชาชน พระสงฆ์
ช่วยเหลือผู้พิการ ได้กว่า 30,000 ราย โดยเปิดบริการคลินิกแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ
จำนวน 28 คลินิก ระดมกำลังแพทย์กว่า 200 คนจากทั่วประเทศ เหล่าจิตอาสากว่า
2,000 คน พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์กว่า 100 ล้านบาท รองรับประชาชนและภิกษุ สามเณร ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี สระแก้ว
ตราดและ ระยอง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ทั้งนี้ โครงการฯ
ได้เปิดบริการคลินิกแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ จำนวน 28 คลินิก อาทิ คลินิกแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนจีน,
คลินิกเด็ก, คลินิกคัดกรองโรคปอด, คลินิกตรวจเลือดและสุขภาพพระสงฆ์, คลินิกรถเข็นพระราชทาน,
คลินิกบริการแขน-ขาเทียมเคลื่อนที่สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ,
คลินิกสุขภาพจิต, คลินิกหูคอจมูก และผ่าตัดไซนัส, คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู, คลินิกส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก,
คลินิกผิวหนังและเลเซอร์, คลินิกคัดกรองโรคทางตา
วัดแว่นเด็ก และผ่าตัดต้อกระจก, คลินิกคัดกรองสารเคมีในเลือด, คลินิกหัวใจและหลอดเลือด,
คลินิกคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและสุขภาพตับ, คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม, คลินิกกระดูกและข้อ
คัดกรองกระดูกพรุน, คลินิกป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยวัคซีน ในเด็กและวัยรุ่น, คลินิกโรคสมองเสื่อม,
คลินิกทันตกรรม, คลินิกศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ, คลินิกทำเส้นเลือดสำหรับล้างไต เป็นต้น
“การออกหน่วยแพทย์อาสาดังกล่าวเป็นกิจกรรมหลักของหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ฯ
ที่มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ เป็นเจ้าภาพร่วมกับหลายหน่วยงาน
มีการดำเนินการติดต่อกันมาทุกปี ซึ่งการจัดโครงการแพทย์อาสาจะหมุนเวียนออกหน่วยไปยังจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ
เพื่อกระจายโอกาสเข้าถึงการรักษาในระดับตติยภูมิแก่ประชาชนในต่างจังหวัด
ดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคซับซ้อนที่ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโดยเริ่มจากการสำรวจ
คัดกรอง ผู้ป่วยในพื้นที่ เพื่อหาผู้ป่วยที่ตกค้าง
และส่งทีมแพทย์เข้าไปให้การรักษา”
เลขาธิการแพทยสภากล่าวด้วยว่า โครงการนี้ยังเป็นการซ้อมจัดโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ที่มีความร่วมมือจากแพทย์ทุกภาคส่วนเพื่อเตรียมพร้อมกรณีเกิดความจำเป็นในอนาคต
เช่น การเกิดภัยพิบัติ ตลอดจนเป็นการถ่ายทอดความรู้จากราชวิทยาลัยฯ
โดยแพทย์เฉพาะทางไปยังโรงพยาบาลในต่างจังหวัดโดยตรงการให้ความรู้กับ อสม. พระสงฆ์
จิตอาสา ในการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR)
สำหรับการออกหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ
ดำเนินการไปแล้ว 10 แห่ง
ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.กาญจนบุรี จ.นครราชสีมา จ.ปราจีนบุรี
จ.ลพบุรี จ. เพชรบุรี จ.สุโขทัย จ.จังหวัดราชบุรี และ จ.จันทบุรี ส่วนการจัดโครงการหน่วยแพทย์อาสาฯ ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่
จ.พระนครศรีอยุธยาในปี 2567
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น