วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ดีไซเนอร์ชื่อดังต่อยอด'บาติก'สู่แฟชั่นทันสมัยและยั่งยืน

 


“ผ้าไทย” ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่มีการถ่ายทอดจากอดีตสู่ปัจจุบัน จากประวัติศาสตร์ และลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ใน “ภาคเหนือ” มีความหลากหลายทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ ขนบประเพณี วัฒนธรรมโดยเฉพาะเรื่องเครื่องแต่งกายมีความงดงามและโดดเด่นแตกต่างกันออกไป อย่างที่จังหวัดลำปางก็มี ผ้าทอสร้อยดอกหมาก หรือ ผ้าฝ้ายทอลายงาขี้ม้อน เป็นต้น


 ....ทว่าในสัปดาห์นี้ จะขอกล่าวถึง “ผ้าบาติก” หนึ่งในเอกลักษณ์ของภาคใต้ เหตุที่นำมาเล่าด้วยเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับผ้าหรือแฟชั่นในจังหวัดลำปาง จะได้นำมาต่อยอดในธุรกิจการค้าของตัวเองต่อไป

 

“ผ้าบาติก” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจนทุกวันนี้ ซึ่ง สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงนำศิลปินนักออกแบบเครื่องแต่งกายมากความสามารถ นายทรงวุฒิ ทองทั่ว Creative Director แบรนด์ Renim Project ภายใต้บริษัท บางกอก แอพพาเรล จำกัด ลงไปจับคู่กับชุมชนผู้ผลิตผ้าบาติกส่งเสริมความสามารถในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกผ่านการออกแบบที่ทันสมัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถทําตลาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้

 


นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานพัฒนาเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยของนักออกแบบ ในพื้นที่ภาคใต้ จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ว่า จากการดำเนินโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย ประจำปี 2566 ของนายทรงวุฒิ ทองทั่ว ดีไซน์เนอร์ ที่ร้านศรียะลาบาติก  จ.ยะลา บ้านบาติกบาโง (กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาหัตถกรรมบาติกภาคใต้  )และบาติก เดอนารา จ.นราธิวาส เพื่อให้ผู้ประกอบการและกลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอในชุมชนได้พัฒนาต่อยอดลวดลายผ้าบาติกที่เป็นวิถีและอัตลักษณ์ท้องถิ่น ให้มีความร่วมสมัยเกิดลวดลายใหม่ๆ ที่หลากหลายเพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เหมาะกับการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังใช้การเชื่อมโยงอัตลักษณ์เดิมจากท้องถิ่นให้มีเรื่องราวมาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สู่อุตสาหกรรมผ้าในระดับต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศควบคู่กับการจำหน่ายให้แก่กลุ่มลูกค้าเดิมๆ ปีนี้ได้เน้นให้นักออกแบบร่วมสร้างสรรค์งานที่ตอบโจทย์แนวคิด BCG ลดโลกร้อน ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ยั่งยืน รวมถึงใช้วัสดุที่ก่อให้เกิด Carbon Footprint น้อยที่สุด

 


ด้าน นายทรงวุฒิ ทองทั่ว เผยแรงบันดาลใจในการออกแบบลวดลายผ้าบาติกว่า มาจากปัญหาภาวะโลกร้อน ความร้อนที่สะสมทำให้ภูเขาไฟระเบิดในหลายประเทศและส่งผลให้ธารน้ำแข็งในมหาสมุทรแอนตาร์กติก้าละลายอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยปีนี้เผชิญอากาศร้อนจัดมาก อยากให้ทุกคนตระหนักการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผ่านแฟชั่นผ้าไทยร่วมสมัยที่ตนทำงานร่วมพัฒนาออกแบบลายผ้ากับกลุ่มผู้ประกอบการผ้าบาติก 3 จังหวัดชายแดนใต้  ประกอบด้วยร้านศรียะลาบาติก ต.สะเตง อ.เมือง จ. ยะลา ได้แก่ ลายลาวา กับลายไฟป่า ส่วนชุมชนบ้านบาโง ต.ลำภู อ.เมือง จ.นราธิวาส ได้แก่ ลายคลื่นลมหมุนเปลี่ยนทิศ หรือปรากฏการณ์โพลาร์ วอร์เทกซ์ ผลจากภาวะโลกร้อน  และลายแหอวนทะเล ที่กลายเป็นปัญหาไมโครพลาสติก ส่วนร้านบาติก เดอนารา ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส ได้แก่ ลายฝุ่นPM2.5  ที่เกิดจากไหป่า และลายภูเขาน้ำแข็งแตก โดยลวดลายทั้งหมดจะนำมาพิมพ์หรือเขียนลงบนผ้ายีนส์ ซึ่งนำเอาผ้ายีนส์มือสองที่ใช้แล้วมาใช้ซื้อให้เกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งตนทำแบรนด์แฟชั่นยั่งยืน ชื่อว่าแบรนด์ Renim Project มี แนวคิดที่ต้องการสร้างความยั่งยืน ให้กับวงการแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์

 

จากการทำงานร่วมกัน ผู้ประกอบการ และกลุ่มชุมชนเกิดความท้าทาย นำไปสู่การทดลองและเกิดผลงานออกแบบแปลก ใหม่ ดูสนุก มีพลัง ทันสมัย เพิ่มมูลค่าด้วยการผสมผสานความเป็นท้องถิ่น และเทคนิคงานฝีมือพิเศษด้วยช่างฝีมือ และเป็นผลงานที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อม อย่างร้านศรียะลาบาติก  ร้านบาติกเดอนารา ใช้สีธรรมชาติ กลุ่มบาติกบ้านบาโงเด่นสกรีนเทียนเย็นจากเทคนิคดั้งเดิม เน้นการใช้งานฝีมือ เพิ่มคุณค่า กลายเป็นชิ้นงานร่วมสมัยสดใหม่ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ สร้างรายได้ให้ท้องถิ่นดีไซเนอร์แบรนด์ Renim Project

 


ด้าน นายปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ผู้ประกอบการร้านศรียะลาบาติก กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตนเองได้ปรับรูปแบบการทำงานจากสร้างสรรค์งานเฉพาะตัว ไปสู่การทำงานร่วมกับชุมชนมากขึ้น ส่งเสริมให้ชาวบ้าน ได้เห็นว่า มุมมองของการทำบาติกแบบให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยต่อคนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,000 -10,000 บาท ซึ่งการได้รับโจทย์ในการทำงานกับผ้ายีนส์จากดีไซเนอร์ครั้งนี้นับเป็นการเปิดใจในการสร้างสรรค์งานใหม่อีกครั้ง เพื่อให้สินค้ามีความแตกต่าง เพิ่มมุมมองและแนวคิดของการทำงาน อีกทั้งยังชื่นชอบแนวคิดของการออกแบบคิดว่าน่าจะ เพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในทางการตลาดอีกด้วย

 


ขณะที่ น.ส.โรสวาณี สุหลง รองประธานกลุ่มบ้าติกบ้านบาโง กล่าวว่า  ลวดลายที่ดีไซเนอร์ออกแบบมาค่อนข้างซับซ้อน แต่สวยแปลกใหม่ คิดว่าทำได้ และท้าทาย เพราะมีเนื้อผ้ายีนส์หนา ก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มเคยลองเขียนลายบนผ้ายีนส์แล้ว แต่ผลงานยังไม่สมบูรณ์ ผ้าหนา ลวดลายติดแต่ไม่คงทน การทำงานครั้งนี้ใช้เทคนิคสกรีนเทียนเย็นกับสูตรย้อมสีที่สืบทอดจากบรรพบุรุษและพัฒนาต่อยอดจนปัจจุบัน ถือเป็นเทคนิคเฉพาะแตกต่างจากชุมชนบาติกอื่นๆ รวมถึงจะทดลองสร้างงานด้วยการปรับอุณหภูมิเพื่อให้ลายผ้าบาติกติดคงทนและสวยงาม

 


ธุรกิจผ้าบาติกเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีมานี้ เพราะมีการพัฒนาลวดลายผ้าที่แปลกตา เอกลักษณ์ของกลุ่มบ้านบาโงจะเป็นงานเขียนซ้อนทำให้ตัวลวดลายมีมิติที่แตกต่างกับผลิตภัณฑ์กลุ่มอื่น ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน ตอนนี้มีสมาชิกในกลุ่มทั้งหมด 8 คน รายได้เฉลี่ย 9,000 บาทต่อเดือนต่อคน ขณะนี้ผ้าบาติกได้รับความนิยมมาก มีลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ จากเดิมจะเป็นคนมีอายุ แต่ตอนนี้มีลูกค้าเป็นกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น เพราะมีการพัฒนาลวดลายผ้าและสินค้าที่หลากหลาย ส่วนช่องทางการตลาดจะใช้ผ่านช่องทางออนไลน์ เพจบางโงบาติก เพจเวปาบาติก ส่วนออฟไลน์จะเป็นการจัดแสดงงานในสถานที่ต่างๆ ความร่วมมือครั้งนี้ กับดีไซเนอร์ เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการมาก มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักออกแบบ เพื่อให้ได้ผลงานที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดนางสาวโรสวาณี  กล่าวอย่างมุ่งมั่นที่จะร่วมรังสรรค์ผ้าบาติกร่วมสมัย



กอบแก้ว แผนสท้าน..เรื่อง

 


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์