วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2566

เอกสารสิทธิ์แม่เมาะ 1 ปีเรื่องยังอยู่ที่จังหวัด บ้านใหม่ฉลองราช รอส่งเรื่องถึงกรมป่าไม้เพิกถอนป่า ขณะที่บ้านเวียงหงส์ฯ รอเข้า ครม.รับรอง

          จากประชุมกรณีการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์พื้นที่รองรับการอพยพบ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ 12 ต.แม่เมาะ  และบ้านใหม่ฉลองราช หมู่ 8 ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ  ได้เดินหน้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2566 ไปเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา โดยมีนายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธาน  พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ทสจ.  ป่าไม้  ที่ดิน  ผู้นำชุมชน และตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่  เป็นต้น

สำหรับการประชุม ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับ การดำเนินการรังวัดพื้นที่การอพยพของทั้งสองหมู่บ้าน  โดยบ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ 12 ต.แม่เมาะ ดำเนินการแล้ว 341 แปลง  เป็นรายเดิม 220 แปลง  และเสียชีวิตสืบทอดโดยทายาท 42 แปลง รายเดิมแบ่งแปลงขาย 40 แปลง  รวมเนื้อที่ 142 -2-26 ไร่    ส่วนหมู่บ้านใหม่ฉลองราช หมู่ 8 ต.สบป้าด  ดำเนินการแล้ว 565 แปลง  เป็นรายเดิม 344 แปลง เสียชีวิตสืบทอดโดยทายาท 46 แปลง รายเดิมแบ่งแปลงขาย 21 แปลง  ซื้อขาย 94 แปลง  เนื้อที่ 1,260-0-05 ไร่ 




ทั้งนี้ การเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ มีหลายขั้นตอน เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรังวัดและจัดทำผลรังวัดเสนอส่งจังหวัดพิจารณารายงานกรมป่าไม้  กรมป่าไม้จัดทำร่างกฎกระทรวงพร้อมแผนที่ส่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา เมื่อกระทรวงทรัพฯ เห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ  จากนั้นเสนอส่ง ครม.พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป  ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่ 2  




นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์  ตัวแทนชาวบ้านใหม่ฉลองราช เปิดเผยว่า  ตนเองได้มีการสอบถามความคืบหน้าในที่ประชุม  เบื้องต้นทราบว่า  บ้านเวียงหงส์ล้านนา คณะทำงานสำรวจพื้นที่แล้วเสร็จ และผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั้งหมดต้องการเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนด ไม่ขอร่วมโครงการ คทช. และไม่ขอรับ ส.ป.ก.   ซึ่งมติที่ประชุมเห็นชอบสรุปเรื่องรายงานส่งต่อยัง คทช.เพื่อเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ส่งเข้า ครม.เพื่อมีมติรองรับ (ครม.ไม่ได้พูดถึงเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้านเวียงหงส์ในคราอพยพ ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2545)




นางมะลิวรรณ กล่าวว่า  ในส่วนของบ้านใหม่ฉลองราช และชุมชนม่อนหินฟู ที่เป็นการอพยพครั้งที่ 6 ในปี 2550และปี2551 ต่อเนื่องกัน ครั้งนี้ได้มี มติ ครม.ระบุว่า พื้นที่รองรับการอพยพ นั้นต้องออกเป็นเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้านด้วย จึงไม่ติดขัดอะไร สามารถสรุปมติที่ประชุมฯ ส่งต่อไปยัง คทช.เพื่อเสนอยกเลิกเพิกถอนป่าสงวนแล้วจัดทำการออกเอกสารสิทธิ์ต่อไป

แต่ทั้งนี้ ในการเพิกถอนป่าให้อยู่ในกรอบกำหนดเพื่อที่ กฟผ.ขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ในแต่ละแปลง โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ และใบอนุญาตจากกรมป่าไม้เป็นหลัก ทั้งสองแปลงอพยพสองหมู่บ้านต่อไป  ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีกไม่นาน ขึ้นอยู่กับคณะทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย  

นางมะลิวรรณ กล่าวทิ้งท้ายว่า   รู้สึกว่าการทำงานค่อนข้างช้า เพราะผ่านไปจะ 1 ปี แล้ว เรื่องยังคงอยู่ที่จังหวัดเหมือนเดิม ทั้ง กมธ.ที่ดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน กำหนดให้ส่งเรื่องให้จบภายใน 6 เดือน

 

แผนที่หมู่บ้านเวียงหงส์ล้านนา



เรื่องเดิม 

เมื่อวันที่ 26 พ.ค.65 ที่ผ่านมา นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ  ตัวแทนชาวบ้านผู้อพยพจากพื้นที่รัศมีรอบโรงไฟฟ้า 5 กิโลเมตร พร้อมด้วยพระสาธิต ธีรปญฺโญ  ผู้อำนวยการสถาบันธรรมาภิวัฒน์ อ.แม่เมาะ  และตัวแทนชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันเดินทางไปยังรัฐสภา กรุงเทพฯ เพื่อยืนหนังสือให้กับคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบในสิทธิที่อยู่อาศัยในแปลงรองรับการอพยพของ กฟผ.แม่เมาะ 

ตามมติ ครม. การอพยพครั้งที่ 6 จำนวน 4 หมู่บ้าน คือบ้านห้วยคิง บ้านห้วยเป็ด บ้านหัวฝาย และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง ตาม มติ ครม.วันที่ 10 ม.ค. 49 จำนวน 493 ครัวเรือน นับจากวันที่มีมติ ครม. จนถึงปัจจุบันเป็นเวลายาวนานถึง 16 ปี ชาวบ้านยังไม่ได้รับเอกสารสิทธิ์  

ต่อมา วันที่ 24 ส.ค.65  ที่ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลำปาง  พันโทเทพจิตร วีณะคุปต์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 4 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการไม่ได้รับเอกสารสิทธิ์ ซึ่งทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งรายงานให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน จนกระทั่งผ่านมา 1 ปีเรื่องยังอยู่ในขั้นตอนของการรังวัดที่ดิน  ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 1 กำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 เท่านั้น จากทั้งหมด 14 ขั้นตอน

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์