วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2566

กฟผ. จับมือ 4 สถาบันการศึกษาลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านการทำเหมืองแร่ต่อเนื่องฉบับที่ 4

 


การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือทางวิชาการด้านการเหมืองแร่กับ 4 สถาบันการศึกษา ต่อเนื่องฉบับที่ 4 สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางการศึกษาและวิจัยทางด้านการเหมืองแร่ พร้อมเสริมสร้างศักยภาพให้เหมืองแม่เมาะ เป็นศูนย์กลางการศึกษา วิจัย อบรม และแหล่งเรียนรู้ทั้งในและต่างประเทศ



            เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ที่ ห้องประชุม M1 อาคารที่ทำการเหมืองแม่เมาะ นายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (ชชม.) เป็นผู้แทน กฟผ. พร้อมด้วยผู้แทนจาก 4 สถาบันการศึกษา ประกอบด้วย ผศ.ดร.นิคม สุวรรณวร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รศ.ดร.จิรวัฒน์ ชีวรุ่งโรจน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.อรรพล สมุทคุปติ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ.ดร.กิจจา ไชยทนุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องความร่วมมือทางวิชาการด้านการเหมืองแร่




            นายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (ชชม.) เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทั้ง 4 สถาบัน ซึ่งประกอบด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 จนกระทั่งถึงปัจจุบันต่อเนื่องเป็นฉบับที่ 4 แล้ว

            โดยทุกหน่วยงานได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาวิจัย และพัฒนาบุคลากรทางด้านเหมืองแร่ให้มีความรู้ความสามารถพร้อมในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการวิศวกรเหมืองแร่ในภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทั้งในและต่างประเทศ มีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาทางการศึกษาวิจัย เทคโนโลยี และบุคลากรทางด้านเหมืองแร่




            ขณะที่ นายณรงค์ศักดิ์ มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและบริหารเหมืองแม่เมาะ-1 (ช.อบม-1.) กล่าวว่า เจตนารมณ์ของบันทึกความเข้าใจฯ ประกอบด้วย 1. การจัดกิจกรรมค่ายวิชาการ (MINING CAMP) ปีละ 1 ครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้ เสริมสร้างทักษะประสบการณ์จากการได้สัมผัสกระบวนการทำเหมือง และแบ่งปัน แลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิชาการทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของนักศึกษาระหว่างสถาบันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายของบุคลกรทางด้านเหมืองแร่ในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง เกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์จากการทำงานจริง ขณะเดียวกัน อาจารย์และบุคลากรของเหมืองแม่เมาะ ยังได้พบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสานงานทางด้านวิชาการ และงานวิจัยต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

2. ด้านงานวิจัยและพัฒนา ได้ร่วมกันกันดำเนินงานวิจัยพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพให้เหมืองแม่เมาะ ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกอบรมทางด้านเหมืองแร่ แก่สถาบันทางการศึกษาของภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศ นำไปสู่การพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีด้านการทำเหมืองเพื่อรองรับอุตสาหกรรมด้านเหมืองแร่ต่อไป

             ทั้งนี้ ภายหลังพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจแล้วเสร็จ ได้ร่วมฟังบรรยายวิชาการ 4 หัวข้อ ประกอบด้วย 1. Thailand striving toward carbon neutrality with carbon capture , utilization and storage โดย รศ.ดร. เกรียงไกร มณีอินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. การทำเหมืองถ่านหินแบบเหมืองใต้ดิน (Coal underground Mining) โดย ผศ.ดร. มนูญ มาศนิยม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 3. การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์โดยเปลี่ยนเป็นแร่ Carbon-dioxide   Geological Storage cy Mineralization โดย ดร. ทัศษุดา ทักษะวสุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 4. คุณสมบัติทางวิศวกรรมของชั้นดินแดงจากเมืองแม่เมาะสำหรับปิดทับถ่านหินโผล่ในผนังบ่อเหมืองสุดท้าย Engineering properties of Redbed soil from Mae Moh Mine for covering coal outcrop in final mine pit wall” โดย นางสาวศุภมาศ ชัยชนะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์