วันอังคารที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2566

“วันครีษมายัน” เวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี

 


        สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผย 21 มิถุนายน “วันครีษมายัน” ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูหนาว



            นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า  “วันครีษมายัน” (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) จะตรงกับวันที่  21 มิถุนายน  เป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุด และช่วงเวลากลางคืนสั้นที่สุดของปี คำว่า “Solstice” เป็นภาษาอินโดยูโรเปียน Stice หมายถึง สถิต หรือ หยุด ดังนั้น Summer Solstice หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์โคจรไปถึงจุดหยุด หรือจุดสุดทางเหนือ แต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนมีนาคม ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปทางเหนือเรื่อย ๆ และหยุดที่จุดเหนือสุดในวันที่ 21 มิถุนายน จากนั้นจะค่อย ๆ เคลื่อนลงมาทางใต้  ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด  

            ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูหนาว สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 05:51 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าประมาณ 12 ชั่วโมง 56 นาที  (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร)

            นายศุภฤกษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ฤดูกาลเกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า แตกต่างกับฤดูหนาวเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว




Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์