วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

กฟผ.แม่เมาะ เปิดตัวรถมินิบัสไฟฟ้า 28 คัน วิ่งจริง 3 สิงหาคม 66 รับส่งผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แห่งแรก เน้นลดมลภาวะ ลดปัญหาการจราจรในตัวเมือง

 

          เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ที่ อาคารเดอะบล็อก กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ  นายธนภาค พุ่มโกมุท หัวหน้ากองบริหาร นางณิษา ปฐมเรืองกุล ผู้บริหารจากโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) ให้ข้อมูลพร้อมนำชมรถมินิบัสโดยสารไฟฟ้าคันจริง ตลอดจนนำเสนอกิจกรรมของโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ อาคารเดอะบล็อกเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นแหล่งจัดจำหน่ายสินค้าชุมชน และจัดแสดงนวัตกรรมเพื่อชุมชนแม่เมาะ ภายใต้กิจกรรม จิบกาแฟ แฉไอเดีย เพื่อสื่อสารภารกิจงานสำคัญของ กฟผ. แก่สื่อมวลชน จ.ลำปาง ที่เข้าร่วมกว่า 30 คน


          นายธนภาค พุ่มโกมุท หัวหน้ากองบริหาร  เปิดเผยว่า  รถมินิบัสไฟฟ้าจำนวน 28 คัน ขนาด 31 ที่นั่ง ที่นำมาแทนรถบัสดีเซลนั้น จะมีระยะวิ่งต่อรอบการชาร์จไม่ต่ำกว่า 150 กิโลเมตร อัตราสิ้นเปลืองไฟฟ้าเฉลี่ย 1.2 กม./kWh  โดยเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้รถบัสโดยสารน้ำมันแบบเดิม จะช่วยลดการกีดขวางทางจราจรใน จ.ลำปาง เนื่องจากขนาดรถที่เล็กลง ทั้งยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้  0.48 กิโลกรัมต่อกิโลเมตรต่อคัน* ลดการปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากการสันดาปของเครื่องยนต์ลงได้  27 มิลลิกรัมต่อกิโลเมตรต่อคัน** และประหยัดค่าใช้จ่ายค่าเชื้อเพลิงมากขึ้นเมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้า 




ถือว่า กฟผ.แม่เมาะ เป็นหน่วยงานแรกของ จ.ลำปาง ที่นำเทคโนโลยีรถไฟฟ้าดังกล่าวมาใช้ในภาคขนส่ง สนับสนุนการก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของ จ.ลำปาง อีกด้วย  ซึ่งรถมินิบัสไฟฟ้าทั้ง 28 คัน จะเริ่มใช้งานจริง ในวันที่ 3 สิงหาคม 2566 จะเป็นวันแรก ที่รถรับส่งผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่สนองนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ประเทศไทย ของ กฟผ. ด้วยการตั้งเป้าลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 และตั้งเป้าหมาย เพื่อมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ตามกลยุทธ์ “Triple S” ได้แก่ S – Sources Transformation การจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ด้วยการกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยบูรณาการนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ S – Sink Co-creation การดูดซับเก็บกักคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม และ S – Support Measures Mechanism กลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม

 *อ้างอิงข้อมูลจาก : อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้จากการคำนวณปริมาณการใช้เชื้อเพลิงต่อกิโลเมตร ร่วมกับ Emission Factor ของรถบัสดีเซล : 2.556 kgCO2/L (Ministry of Environment, Victoria, B.C., November, 2014 )

 **อ้างอิงจาก : มาตรฐาน Euro4 จำกัดการปล่อย PM2.5 ของรถ Heavy Duty Diesel : 0.027g/km (เครือข่ายการจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทย)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์