กฟผ. เปิดรับฟังความเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชน
นำร่องโครงการโซลาร์ฟาร์มแม่เมาะ
มุ่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามนโยบายรัฐ
ควบคู่ลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
เริ่มต้นผลิตไฟฟ้าใช้งานเฉพาะกิจกรรมการทำเหมืองแม่เมาะ เพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินงานในอนาคต
หนุน จ.ลำปาง
พื้นที่ศักยภาพสูงมีความเข้มแสงเหมาะสม
เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่สำคัญของประเทศต่อเนื่องระยะยาว
นายจารุเกียรติ ปัญญาดี
พลังงานจังหวัดลำปาง
เป็นประธานเปิดการรับฟังความเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย การศึกษาและจัดทำรายงานประมวลหลักการปฏิบัติ
(CoP) และรายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย
(ESA) โครงการโซลาร์ฟาร์มแม่เมาะ โดยมีประชาชนในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ส่วนราชการ องค์กรเอกชน
สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และผู้บริหาร กฟผ. เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก เมื่อวันที่ 1
กรกฎาคม 2566 ณ อาคารหอประชุมโภชนาคาร
วิทยาลัยเทคนิค กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
พลังงานจังหวัดลำปาง
เปิดเผยว่า จังหวัดลำปาง ถือเป็นพื้นที่แหล่งพลังงานสำคัญของประเทศ
โดยเป็นที่ตั้งเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่มีบทบาทสำคัญต่อการผลิตไฟฟ้า
กระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของจังหวัดมายาวนาน
โครงการโซลาร์ฟาร์มแม่เมาะ จะเข้ามาพัฒนาส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ช่วยขับเคลื่อนจังหวัดลำปางให้เป็นพื้นที่สำคัญด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศต่อไป
ด้านนายประจวบ
ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (ชชม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(กฟผ.) แม่เมาะ กล่าวเสริม กฟผ.แม่เมาะ
มีแผนนำร่องพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในโครงการโซลาร์ฟาร์มแม่เมาะ ขนาดกำลังผลิต 38.50 เมกะวัตต์ บนเนื้อที่ 490 ไร่ ภายใน กฟผ. แม่เมาะ เนื่องด้วยตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงจากค่าความเข้มแสงที่เหมาะสมตลอดทั้งปี
คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าได้ในปี 2568 ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะนำไปใช้ประโยชน์ภายในการทำเหมืองแม่เมาะ
เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะช่วงเวลากลางวัน
ตลอดจนส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามนโยบายรัฐ
การจัดเวทีรับฟังความเห็นในครั้งนี้
เพื่อสร้างความรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียได้แสดงข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ
ตลอดจนข้อวิตกกังวลต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับปรุงให้การศึกษาฯ มีความครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่รัศมีโดยรอบโครงการฯ สามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ได้จนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ กล่องรับฟังความคิดเห็นภายในสำนักงานเทศบาลตำบลแม่เมาะ ที่ทำการองค์การบริหาร ส่วนตำบลสบป้าด และที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1,3,4,5 และ 6 ตำบลแม่เมาะ หมู่ที่ 1,3 และ 4 ตำบลสบป้าด ช่องทางโทรศัพท์ 02 101 1272 หรือ 06 1418 0822 และอีเมล [email protected] เป็นต้น
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น