นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ชี้แจงถึงประเด็นดราม่าอาหารประจำถิ่น ว่า เพื่ออนุรักษ์อาหารพื้นบ้านให้อยู่คู่กับอาหารไทย และคู่บ้านคู่เมืองของไทย โดยรวบรวมเมนูอาหารถิ่นที่กำลังจะเลือนหาย ที่หารับประทานได้ยาก มายกระดับ พัฒนา สร้างสรรค์เป็นอาหารประจำจังหวัด
อีกทั้งจัดทำเป็นสำรับอาหารประจำภาคทั้ง 4 ภาค เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่องค์ความรู้ และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอาหารถิ่น ทั้งคาวและหวาน ซึ่งมีสรรพคุณหลากหลาย ทั้งด้านสุขภาพ โภชนาการ สมุนไพร ด้านวิธีการปรุง เคล็ดลับและประวัติความเป็นมา เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าของอาหาร โดยต่อยอดจากวัตถุดิบที่เป็นสมุนไพรชุมชน
ซึ่งการประกาศเมนูอาหารทั้ง 77 รายการ และอาหารบางชนิดคนในท้องถิ่นอาจไม่รู้จัก
แต่ถึงกระนั้น นี่คือสิ่งที่ตอบวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ การค้นหาเมนู “รสชาติ…ที่หายไป” อยากฟื้นกลับมา เมื่อคัดเลือกมาแล้ว ถือเป็นการปลุกกระแสทำให้คนในท้องถิ่นหันมาสนใจ และสร้างความเข้าใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของจังหวัดนั้น ๆ
สวธ. ย้ำ!! การหยิบยกเมนูที่คนท้องถิ่นหรือคนในพื้นที่นั้น ๆ ไม่รู้จักขึ้นมา เป็นวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการทำให้คนรุ่นใหม่ได้พบกับ “รสชาติที่หายไป” หมายความว่า เมนูประจำถิ่นของแต่ละจังหวัดอาจไม่ได้มีชื่อเสียงในปัจจุบัน แต่เป็นการขุดคุ้ยเมนูที่เคยมีอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ในอดีต ให้กลับมาเป็นเมนูเชิดชูถิ่นได้ในปัจจุบันนั่นเอง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น