วันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2566

โซลาร์ฟาร์ม 1,300 ล้าน ของขวัญจาก กฟผ. แม่เมาะ สู่ชุมชน


            โซลาร์ฟาร์มแม่เมาะ หนึ่งในแผนงานโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ หรือ Mae Moh Smart City ที่เตรียมก่อสร้างบนเนื้อที่ 490 ไร่ ภายในพื้นที่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยใช้งบประมาณจำนวน 1,300 ล้านบาท ขนาดกำลัง 38.50 เมกะวัตต์นำร่องพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำงานของเหมืองแม่เมาะ ซึ่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้จัดเวทีการรับฟังความเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย การศึกษาและจัดทำรายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) และรายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ESA) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ได้เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

            ทั้งนี้ จากเวทีการรับฟังความคิดเห็นฯ มีหลายประเด็นที่ชาวแม่เมาะในพื้นที่ได้ร่วมกันตั้งข้อสังเกต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ อุณหภูมิในพื้นที่ที่อาจจะสูงขึ้น การขาดแคลนน้ำ และการสูญเสียพื้นที่ป่า เป็นต้น

            ลานนาโพสต์ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นางปิยะดา จริยภูมิ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ-2 (ช.อผม-2.) ถึงประเด็นข้อสังเกตต่างๆ ของประชาชน ซึ่งได้เล่าถึงที่มาของโครงการโซลาร์ฟาร์มแม่เมาะให้ฟังว่า เดิมที อ.แม่เมาะ ยังไม่เคยมีโครงการประเภทพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy : RE) มาก่อน ที่ผ่านมา กฟผ. แม่เมาะ ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และในวันข้างหน้าปริมาณถ่านหินลิกไนต์ก็จะมีแต่ลดลง ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทการทำเหมืองที่ได้วางแผนไว้ แล้วชุมชนจะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ กฟผ. ได้ให้ความสำคัญและอยู่ระหว่างการวางแผนการศึกษาร่วมกัน

            เมื่อติดตามสถานการณ์และทิศทางพลังงานโลกจะพบว่า พลังงานหมุนเวียนมีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับนโยบายของ กฟผ. ที่ต้องการให้ชุมชนแม่เมาะอยู่ได้อย่างยั่งยืน แม้ว่าถ่านหินลิกไนต์จะไม่ถูกนำมาใช้แล้วก็ตาม ทั้งนี้ พื้นที่ของ อ.แม่เมาะ ถือว่ามีศักยภาพสูง เป็นพื้นที่ที่มีค่าความเข้มแสงที่เหมาะสมตลอดทั้งปี จึงเห็นว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์น่าจะเข้ามาทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ได้ในอนาคต และยังเป็นพลังงานที่ยั่งยืน ไม่ได้ใช้แล้วหมดไปเหมือนเชื้อเพลิงอื่นๆ เป็นพลังงานสะอาด โครงการนี้จึงนับได้ว่าเป็นของขวัญที่ กฟผ. ได้มอบให้กับ อ.แม่เมาะ เป็นความมั่นคง สร้างรายได้ สร้างการจ้างงานลูกหลานของชาวแม่เมาะ ไม่ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ และยังเป็นโครงการนำร่องไปสู่โครงการด้านพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ที่ อ.แม่เมาะ มีศักยภาพ

ลานนาโพสต์ได้สรุปข้อสังเกตเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

¨ ประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากโซลาร์ฟาร์ม

            โครงการนี้จะเป็นแหล่งจ้างงาน โดยพิจารณาจ้างแรงงานในพื้นที่เป็นลำดับแรก ระหว่างก่อสร้างคาดว่าจะมีการจ้างแรงงานราว 100 คน และโครงการนี้จะไม่มีการตั้งแคมป์คนงานในพื้นที่ แรงงานบางส่วนที่เป็นแรงงานเฉพาะจากต่างพื้นที่จะเกิดการเช่าที่พักอาศัย มีการจับจ่ายใช้สอย มีภาษีเงินได้เข้ามาในพื้นที่ จะทำให้เศรษฐกิจใน อ.แม่เมาะ หมุนเวียนและมีการใช้จ่ายเงินสะพัดมากขึ้น  

            เมื่อการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จพื้นที่ใต้แผงโซลาร์เซลล์ ยังได้ศึกษาการปลูกพืชสมุนไพร เป็นการสร้างรายได้เพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ยังมีการจ้างงานในส่วนของการบำรุงรักษาบริเวณ การตัดหญ้า และการล้างทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ด้วย รวมทั้ง จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจในพื้นที่ใต้แผงโซลาร์เซลล์ เพื่อให้กลุ่มผู้เลี้ยงวัวสามารถรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อปรับรูปแบบการเลี้ยงสัตว์

            ในอนาคตจะมีการผลักดันให้โครงการโซลาร์ฟาร์มแม่เมาะ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ใน อ.แม่เมาะ ได้ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยเป็ด อ่างเก็บน้ำแม่เมาะ สวนพฤกษชาติ กฟผ. แม่เมาะ เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อพัฒนาด้านสาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจชุมชน สิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค พลังงานชุมชนและอื่นๆ ซึ่งระหว่างก่อสร้างจะนำส่งเงินเข้ากองทุน 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปี ในปีแรกของการก่อสร้างจะส่งเงินนำเข้ากองทุนจำนวน 2,500,000 บาท ภายหลังจ่ายไฟเข้าระบบจะนำส่งเงินเข้ากองทุนปีละประมาณ 653,680 บาท

            หลังจากการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้ว ได้จัดทำรายการประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) และรายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย (Environment and Safety Assessment: ESA) สำหรับเป็นเอกสารประกอบขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (รง.) โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ช่วงปลายปี 2566 และจะสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ในเดือนมกราคม 2568 เพื่อใช้ประโยชน์ภายในการทำเหมืองแม่เมาะ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะช่วงเวลากลางวัน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามนโยบายของรัฐด้วย



 ¨ การขออนุญาตใช้พื้นที่ป่า 

            โครงการโซลาร์ฟาร์มแม่เมาะ ได้รับใบอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่าจากกรมป่าไม้แล้ว โดยพื้นที่นี้อยู่นอกพื้นที่โครงการเหมืองแร่ลิกไนต์แม่เมาะในรายงาน EIA และอยู่นอกพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนฯ ในรายงาน EIA เช่นกัน นอกจากนี้ ยังได้ทำหนังสือขอความเห็นและข้อเสนอแนะจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ ไม่ขัดกับกฎกระทรวงแต่อย่างใด

            “กฟผ. แม่เมาะ มีใบอนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่ามาตั้งแต่ปี 2533  ก่อนจะใช้พื้นที่ได้เชิญเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาสำรวจพบว่าไม่มีไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เป็นไม้กระถิน ไม้โตเร็ว และอนุญาตให้ กฟผ. ทำการเคลียร์พื้นที่เพื่อดำเนินโครงการได้ อย่างไรก็ตาม ยังเหลือพื้นที่โดยรอบโครงการที่ยังคงสภาพป่าอีกจำนวนมาก”

   ¨ มีโซลาร์ฟาร์มแล้วจะทำให้อากาศร้อนหรือไม่?

            ในประเด็นนี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ ได้กล่าวว่า มีจากผลการศึกษาวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศเกี่ยวกับผลกระทบของโซลาร์ฟาร์ม ในส่วนของประเทศไทยนั้นได้มีการศึกษาความผันแปรของจุลภูมิอากาศรอบโซลาร์ฟาร์ม ของมานิกา แย้มสุข ปี 2561 ได้ศึกษาผลกระทบจากการทำโซลาร์ฟาร์มต่อสภาพแวดล้อมและผลผลิตจากการเกษตรรอบโซลาร์ฟาร์มที่ติดตั้งบริเวณแปลงนาข้าว ขนาด 5.9 เมกกะวัตต์ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี  โดยติดตั้งสถานีตรวจอากาศแบบอัตโนมัติในแปลงนาข้าวรอบโซลาร์ฟาร์มทั้ง 4 ด้าน จำนวน 9 จุด และติดตั้งในบริเวณโซลาร์ฟาร์มจำนวน 2 จุด รวมจำนวน 11 จุด บันทึกข้อมูลทุก 30 นาที รวมระยะเวลา 8 เดือน (ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนตุลาคม 2560) พบว่า บริเวณที่ตั้งโซลาร์ฟาร์มจะร้อนกว่าพื้นที่โดยรอบ 0.3 องศาเซลเซียส ถือว่าน้อยมาก ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ ดังนั้น ผลกระทบจากแสงสะท้อนและความร้อนต่อการเกษตรจึงอยู่ในระดับต่ำ

            “ถ้ามองตามหลักวิทยาศาสตร์ หลักการของพลังงาน พลังงานจะไม่สูญหายแต่มีการเปลี่ยนรูป พลังงานไฟฟ้าที่ได้มา เกิดจากการดูดพลังงานจากแสงอาทิตย์ไปใช้  แผงโซลาร์เซลล์จึงไม่ได้สะท้อนความร้อน แต่เป็นการดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ จึงไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมร้อนขึ้นอย่างแน่นอน สิ่งที่อาจทำให้รู้สึกว่าร้อน  เป็นเพราะในพื้นที่ไม่มีต้นไม้ ไม่มีร่มเงามากกว่า แต่หากจะทำให้ลำปางร้อนขึ้นหรือไม่ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องแน่นอน และหลังจากโครงการเกิดขึ้น จะมีคณะกรรมการร่วมระหว่าง กฟผ. แม่เมาะ กับชุมชน เข้ามาตรวจติดตามสภาพสิ่งแวดล้อม ว่ามีค่าตรวจวัดใดเกินมาตรฐานหรือไม่ ชุมชนในพื้นที่จะได้เข้ามามีส่วนร่วมและรับทราบข้อมูลต่างๆ อย่างโปร่งใสด้วย”

 

¨ โซลาร์ฟาร์มใช้น้ำน้อยมาก ไม่กระทบชุมชน

            ในประเด็นนี้ กฟผ.แม่เมาะ มีท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่จางมาใช้ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้วันละ 2.2 แสนคิว ซึ่งปัจจุบันชุมชนนำไปใช้อยู่ประมาณ 6 หมื่นคิว ขณะที่โซลาร์ฟาร์มจะใช้น้ำเพื่อการล้างแผงในฤดูแล้งเพียงวันละ 100 คิว ถือเป็นการใช้น้ำน้อยมาก ขอชุมชนไม่ต้องกังวลว่าจะมีน้ำไม่เพียงพอ

            โครงการโซลาร์ฟาร์มแม่เมาะนี้เป็นเพียงโครงการนำร่องผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำเหมืองเท่านั้น ซึ่งในอนาคต กฟผ. แม่เมาะ ยังมีแผนขยายพื้นที่โครงการโซลาร์ฟาร์มตามศักยภาพของ อ. แม่เมาะ ได้อีกกว่า 1,000 เมกะวัตต์ เป็นความมั่นคง สร้างรายได้ สร้างการจ้างงานลูกหลานของชาวแม่เมาะ และยังมุ่งพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทุ่งโซลาร์ฟาร์ม ชักชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม อ.แม่เมาะ มากขึ้น


            ทั้งนี้ นางปิยะดา กล่าวทิ้งท้ายว่า  “เข้าใจความรู้สึกของชุมชนที่อาจไม่สบายใจเกี่ยวกับโครงการใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  แต่อยากให้ไว้ใจเพื่อนบ้านคนนี้ว่าจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชุมชนเป็นสิ่งแรก ตามแนวคิด
EGAT for ALL กฟผ. เป็นองค์การของทุกคน ที่ทำเพื่อทุกคน”  



 



 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์