วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2566

พัฒนาเมืองด้วย Mae Moh City Data Platform แผนในฝัน หรือทำได้จริง?


ผ่านไปแล้วกว่า 5 เดือน กับการเปิดตัว Mae Moh City Data Platform (ระบบสนับสนุนการวางแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยข้อมูล) ระบบข้อมูลอัจฉริยะสุดล้ำของแม่เมาะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ใช้พื้นที่อำเภอแม่เมาะเป็นพื้นที่นำร่อง โดยการรวบรวมข้อมูลระดับเมือง มาวิเคราะห์ และใช้วางแผน บริหารจัดการ และแสดงผลข้อมูลเมืองด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น คุณภาพอากาศ จุดความร้อนและไฟป่า พื้นที่สีเขียว ปริมาณขยะและของเสีย และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาแผนงาน ขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอย่างมีระบบ

Mae Moh City Data Platform คืออะไร??



หลายคนยังนึกภาพไม่ออกว่า Mae Moh City Data Platform นี้จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร? ดูเป็นเรื่องไกลตัวเสียเหลือเกิน ลานนาโพสต์ได้พูดคุยกับ คุณเบญจมาศ ขัตติยากุล หัวหน้าหมวดส่งเสริมสิ่งแวดล้อม หน่วยพัฒนาโครงการ โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ และคุณอริย คำยา หัวหน้าหมวดสารสนเทศการพัฒนาโครงการ หน่วยวางแผนและบริหารจัดการ ได้เล่าให้ฟังว่า การจัดทำ Mae Moh City Data Platform คือ การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่รวมถึงการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งแต่ละจังหวัดอาจจะเน้นไม่เหมือนกัน อาทิ จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดเชียงใหม่ จะเน้นแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วน อำเภอแม่เมาะ เน้นในเรื่องการเป็นเมืองที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net zero) เป็นหลัก  ดังนั้น Mae Moh City Data Platform จึงมุ่งสู่การเป็นเมือง Net zero ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  โดยการเก็บ-บริหารข้อมูลเมืองทั้งหมด

 การเก็บข้อมูลเมืองทำอย่างไร?

แน่นอนว่าการเก็บข้อมูลเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยการประสานงานจากหน่วยงานต่าง ๆ และระยะเวลาการเก็บข้อมูลหลายปี จึงจะรวบรวมเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มได้ 

 



คุณอริย กล่าวว่า การที่จะบอกว่าแต่ละองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยเพียงใด จะมีมาตรฐานกำหนดอยู่ เป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกใช้เหมือนกันหมด ที่ผ่านมาเคยมีหลายจังหวัดทำการเก็บข้อมูลแล้ว แต่ไม่ได้นำข้อมูลมาเชื่อมต่อและเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนอย่างเป็นระบบ บางจังหวัดมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อเก็บข้อมูลปีฐาน ว่าปีที่ผ่านมามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร มีแผนจะลดอย่างไร ซึ่งก็ต้องจ้างบริษัทต่อไปทุกปี แต่สิ่งที่โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ พยายามจะทำคือ เชื่อมโยงข้อมูลโดยการประสานกับหน่วยงานเจ้าของข้อมูล เพื่อรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆเข้าสู่ซิตี้ดาต้าแพลตฟอร์ม และเป็นข้อมูลในช่วงเวลาจริงมากที่สุด โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษา และดำเนินการเป็นหลัก เช่น ข้อมูลการเก็บขยะ อ.แม่เมาะ จะนำเข้าสู่ศูนย์กำจัดของ อบจ.ลำปาง มีการเก็บข้อมูลทุกเดือน สามารถส่งต่อมาเข้ามาในแพลตฟอร์มของเราเพื่อเป็นฐานข้อมูลทุกเดือน เป็นต้น

คุณเบญจมาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า  นอกจากนั้นการเก็บข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเก็บตามกิจกรรมต่างๆที่เป็นแหล่งปลดปล่อย มีรูปแบบการเก็บอยู่ 3 ขอบเขต  เช่น  1) การปล่อยโดยตรงจากกิจกรรมของชุมชนเมือง เช่น จากยานพาหนะขับขี่ การใช้แก๊สหุงต้ม การนำขยะมาทำปุ๋ย การเกษตร การปล่อยน้ำเสีย อุตสาหกรรมต่าง ๆ   2) การใช้ไฟ และ 3) ข้อมูลอื่นๆ เช่น การเดินทางที่อยู่ในขอบเขต รถที่เข้ามาในพื้นที่ เป็นต้น 

การเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงต้องประสานกับหลายหน่วยงานภายนอก กฟผ. อาทิ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การใช้พลังงานเชื้อเพลิงต้องประสานกับปั๊มน้ำมันในพื้นที่ ปริมาณขยะต้องประสานในส่วนของเทศบาลตำบล เป็นต้น จากนั้นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็จะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เมืองว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนไหนบ้าง หากต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควรต้องวางแผนงานอย่างไร เพื่อให้นำไปสู่เป้าหมายได้



 

การทำงานของ กฟผ.แม่เมาะ อยู่ขั้นตอนไหน?

ขณะนี้อยู่ในส่วนของการเก็บข้อมูลต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ในส่วนของข้อมูลพื้นฐานคุณภาพอากาศได้ดำเนินการไปแล้วจากการติดตั้งเซนเซอร์ 40 กว่าตัวในพื้นที่ อ.แม่เมาะ และในปี 2566 นี้จะมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม เป็นฐานข้อมูลขึ้นมา  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะออกแบบโปรแกรมเก็บข้อมูลและคำนวณมาให้เบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นแบบฟอร์มที่จะใช้ได้ตลอด  เราเพียงแค่ใส่ข้อมูลพื้นฐานเข้าไป เมื่อรวมกับข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานต่างๆที่ส่งเข้ามายังแพลตฟอร์ม ก็จะนำมาประมวล - วิเคราะห์ข้อมูล นำไปสู่แผนการทำงานเพื่อพัฒนาเมือง

ซึ่งหลังได้แผนการทำงานแล้ว ผู้บริหารเมืองทั้งหมดก็ต้องมาประชุมกัน ว่าแผนนี้จะทำได้หรือไม่ ทำแล้วมีความคุ้มค่าหรือไม่ เช่น หากต้องการให้ภาคขนส่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก จะต้องลงทุนเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า EV ทั้งหมดซึ่งก็ต้องใช้งบประมาณมาก หน่วยงาน/องค์กรนั้นจะสามารถทำได้หรือไม่ นอกจากนี้แผนการทำงานที่ได้จะนำมาปรับเป็นรูปแบบของกิจกรรม เพื่อให้สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าที่กำหนด คาดว่าอย่างช้า ต้นปี พ.ศ. 2567 จะได้แผนการทำงานเพื่อการพัฒนาเมืองแม่เมาะสู่การเป็นเมือง Net zero

ความคืบหน้าของโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ในปีที่ 2

นอกจาก Mae Moh City Data Platform หนึ่งในโครงการของการเดินหน้าสู่การเป็นแม่เมาะเมืองอัจฉริยะ ยังมีโครงการอีกมากที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง - ขยายผล ไม่ว่าจะเป็น

·           การนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเผารวมกับถ่านหิน (Biomass Co-firing) เพื่อลดการเผาในที่โล่ง 




·           การเปลี่ยนรถบัสจากรถดีเซลเป็นมินิบัสไฟฟ้า เพื่อรับส่งพนักงาน จำนวน 28 คัน เริ่มใช้งานจริงวันที่ 3 ส.ค.66 ในการรับส่งผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ ลดการปล่อยก๊าซมลภาวะ CO2 และข้อมูลพิกัด GPS แสดงตำแหน่งของรถและการใช้งานจริงจะเชื่อมโยงเข้าสู่ Mae Moh City Data Platform



·           โครงการเกษตรแนวตั้ง (Vertical farm) เป็นหนึ่งในแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้านอพยพ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และทรัพยากรน้ำ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีการทำเกษตรกรรมแนวตั้ง (Vertical Farming) มาผสมผสานกับการทำเกษตรกรรมและถ่ายทอดสู่ชุมชน นอกเหนือจากการเป็นแหล่งสร้างอาชีพและรายได้ชุมชนให้แก่คนในพื้นที่ตามโมเดลธุรกิจเกษตรแนวตั้งแล้วนั้น ยังสามารถผลักดันไปสู่การเป็นพื้นที่ต้นแบบในการทำเกษตรกรรมแนวตั้งแห่งแรกของภาคเหนือ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศึกษาดูงานได้ โดยสิ่งนี้จะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ในอนาคต หาก Vertical Farm นำร่องนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ และสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ใกล้เคียงได้เช่นเดียวกันที่สร้างให้กับคนในหมู่บ้านอพยพ




·           อาคารที่ใช้พลังงานใกล้เคียงเท่ากับศูนย์ (Near Zero Energy Building) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2565 ได้สนับสนุนการศึกษาตวามเหมาะสมที่จะติดตั้งพลังงานสะอาด ประกอบด้วย ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cell) และระบบเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System :BESS) และระบบบริหารจัดการ ENZY Platform แก่หน่วยงานราชการในชุมชนทั้งหมด 10 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลแม่เมาะ, วิทยาลัยเทคนิค กฟผ.แม่มาะ, โรงเรียนแม่มาะวิทยา, โรงเรียนอนุบาลแม่เมาะ, เทศบาลตำบลแม่เมาะ, รพ.สต.บ้านท่าสี, รพ.สต.บ้านสบป้าด, รพ.สต.บ้านใหม่รัตนโกสินทร์, รพ.สต.บ้านกอรวก, และ รพ.สต.บ้านทาน สำหรับโครงการพลังงานสะอาดของโรงพยาบาลแม่เมาะและโรงเรียนแม่มาะวิทยา ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้ารอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ประจำปี 2566 รวม 4.2 ล้านบาท จากนั้นปี 2566 กฟผ.ได้ขยายผลในการสนับสนุนศึกษาความเหมาะสมติดตั้งพลังงานสะอาดแก่หน่วยงานราชการ สถานศึกษาอีก 11 แห่ง เพื่อเป็นแนวทางแก่หน่วยงานจัดตั้งงบประมาณเพื่อลงทุนซึ่งจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ นอกจากนั้นพลังงานไฟฟ้าจาก Solar cell และ BESS จะเป็นแหล่งพลังงานสำรองให้แก่หน่วยงานในชุมชน เพิ่มเสถียรภาพพลังงานไฟฟ้าแก่ชุมชนยิ่งขึ้น



·           โครงการโซลาร์ฟาร์มนำร่อง 38.5 เมกะวัตต์ เพื่อใช้ในกิจกรรมการทำเหมือง ตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2568 และได้ศึกษาการเพิ่มกำลังผลิต Solar Farm ให้เต็มศักยภาพพื้นที่ กฟผ. แม่เมาะ


โครงการทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนของโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ Mae Moh Smart City นอกจากนี้ มีโครงการที่เตรียมจะทำต่อ ไม่ว่าจะเป็น โครงการเพิ่มมูลค่าขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงวันลาย (BSF) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการจัดการขยะอินทรีย์ในพื้นที่โดยการใช้หนอนแมลงวันลาย ที่มีความสามารถในการย่อยขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ยได้ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าวิธีตั้งกองปุ๋ยหมักธรรมดา ทั้งยังช่วยร่นระยะเวลาลง อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากหนอนแมลงวันลายย่อยแล้ว จะเพิ่มมูลค่าหรือ Upcycle ขยะอินทรีย์ได้เป็น หนอน ปลอกดักแด้ ซากแมลง ปุ๋ยมูลหนอน หนอนแห้ง รวมถึงไข่หนอน ซึ่งมีราคาแตกต่างกันไป สามารถนำไปขายได้  โดยโครงการจะตั้งต้นขยะอินทรีย์จากตลาดสด 500 กิโลกรัมต่อวัน  ถ้าขายผลิตภัณฑ์ได้หมด จะมีกำไรถึงล้านบาทต่อปี วิธีการกําจัดขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงวันลายจึงเป็นประโยชน์ ช่วยสร้างโอกาสในการหารายได้เสริม ลด ค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยหรืออาหารสัตว์ ทั้งยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย



โครงการส่งเสริมการปลูกไผ่ ลดเผา เพิ่มพื้นที่สีเขียว และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมการปลูกไผ่ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะลดลง ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นควัน pm 2.5 จากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ลดลง เป็นการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจำนวนมาก เนื่องจากไผ่เป็นไม้ที่ปลูกและดูแลรักษาง่าย ต้นทุนต่ำ ใช้ประโยชน์ได้ต่อเนื่องและหลากหลาย ทั้งใช้เป็นไม้จักสาน เฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง บริโภคหน่อไม้สดและแปรรูป วัสดุเหลือใช้จากการแปรรูปสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลได้ เป็นการพัฒนาพื้นที่เกษตรและสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในอำเภอแม่เมาะ เพิ่มมูลค่าด้านเศรษฐกิจ ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะดำเนินการนำร่องพื้นที่แปลงปลูกและเพาะขยายพันธุ์กล้าไผ่ เพื่อเป็นธนาคารไผ่ บริเวณหมู่บ้านห้วยคิง ตำบลแม่เมาะ ก่อนที่จะขยายพื้นที่การปลูกไผ่ไปยังชุมชนอำเภอแม่เมาะและปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นไผ่หรือไม้โตเร็วซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจในพื้นที่อื่น ๆ ในอำเภอแม่เมาะต่อไป

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์