โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ ร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จัดอบรมโครงการกสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง “โคก หนอง นา โมเดล วิถีใหม่” รุ่นที่ 2 สืบสาน ต่อยอด “ศาสตร์พระราชา” เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 นางเกษศิรินทร์ แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ กฟผ.แม่เมาะ เป็นประธานเปิดการอบรมโครงการกสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง “โคก หนอง นา โมเดล วิถีใหม่” รุ่นที่ 2 ประจำปี 2566 โดยมี นายอรรถพล อิ่มหนำ ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ เข้าร่วมพิธี ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
การอบรมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 จากความร่วมมือระหว่างโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ โดยหมวดศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (มศป-มน.) และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ภายใต้โครงการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา สืบสานงานของพ่อ จัดอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในระหว่างวันที่ 19-23 ตุลาคม 2566 แก่ผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 58 คน ที่สนใจในการทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ผสมผสานกับเกษตรทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” โมเดล ซึ่งผู้เข้าอบรมมีทั้งจากจังหวัดลำปาง ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอแม่เมาะ อำเภอแม่ทะ และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ เพชรบูรณ์ แพร่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก พิษณุโลก สมุทรปราการ สระบุรีและกรุงเทพฯ โดยมีวิทยากรจากเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติทั่วประเทศ และศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ.แม่เมาะ บรรยายให้ความรู้ต่างๆ อาทิ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, หลักกสิกรรมธรรมชาติ, ตัวอย่างความสำเร็จการขับเคลื่อนตามศาสตร์พระราชา 4 พอ ตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้น, การเรียนรู้ด้านการผสมผสานของเกษตรทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” โมเดล 9 ฐาน ได้แก่ ฐานคนรักษ์แม่ธรณี ฐานคนมีน้ำยา ฐานคนเอาถ่าน ฐานคนติดดิน ฐานคนรักษ์สุขภาพและภูมิปัญญาชาวบ้าน ฐานคนรักษ์สมุนไพร ฐานคนรักษ์แม่โพสพ ฐานคนรักษ์ป่าและน้ำ, กิจกรรมเอามื้อสามัคคีในแปลงตัวอย่างของรุ่นพี่กสิกรรมธรรมชาติที่ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมจากศูนย์ฯ ในปี 2565 และการออกแบบพื้นที่ตามภูมิสังคม (ออกแบบพื้นที่แปลงของตนเอง) เพื่อปลูกจิตสำนึก สร้างความสามัคคีให้ผู้เข้าอบรมเป็นกำลังสำคัญในการสืบสานและขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาสืบต่อไป ตลอดจนนำความรู้ต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและพัฒนาต่อยอดในพื้นที่ของตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น