วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2566

สูบน้ำกิ่วลมส่ง กฟผ. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อประโยชน์สูงสุด และความมั่นคงพลังงานของประเทศชาติ


คณะกรรมการกำกับดูแลการเดินเครื่องสูบน้ำตามโครงการนำน้ำไปใช้ประโยชน์สำหรับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีมติอนุญาตให้สูบน้ำจากเขื่อนกิ่วลมไปยังอ่างเก็บน้ำแม่ขามเพื่อใช้สำหรับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ประจำปี 2567 โดยแบ่งดำเนินการ 2 ช่วง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค เนื่องจากปัจจุบันความจุน้ำเขื่อนกิ่วลม อยู่ที่ 98.82 % และเขื่อนกิ่วคอหมา 111.15% (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ธ.ค. 66) ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งาน และอยู่ในระดับที่สามารถส่งไปใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าได้

คณะกรรมการฯ ดังกล่าว ตั้งขึ้นเพื่อกำกับดูแลการสูบน้ำจากเขื่อนกิ่วลมผ่านท่อส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำแม่ขาม ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)แม่เมาะ ตามความร่วมมือระหว่างโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมากับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ(MOU) มีมติจากการประชุมเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ซึ่งมีนายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธาน และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อนุญาติให้ กฟผ.แม่เมาะ สูบน้ำจากเขื่อนกิ่วลม ในปริมาณไม่เกิน 30 ล้าน ลบ.ม. ใน 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 เดือนมกราคม-มีนาคม 2567 และช่วงที่ 2 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นไป โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการต่อเนื่องตาม MOU  

สำหรับสาระสำคัญในการนำน้ำจากเขื่อนกิ่วลมไปใช้เพื่อประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้านั้น เป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อประโยชน์สูงสุด โดย กฟผ. จะสูบน้ำที่เกินกว่าระดับความต้องการใช้เพื่อชลประทาน ไม่ต่ำกว่า + 282.00 เมตร ร.ท.ก.จากระดับน้ำเก็บกักสูงสุด 285.00 ร.ท.ก. หรือคิดเป็นปริมาณน้ำเก็บกัก 65 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงน้ำที่เกินความสามารถจากการเก็บกักของเขื่อนกิ่วลม ที่ต้องปล่อยทิ้งไปในช่วงฤดูฝนหรือช่วงน้ำหลาก โดยสูบผ่านท่อส่งน้ำมายังอ่างเก็บน้ำแม่ขาม อ.แม่เมาะ เพื่อรองรับวัตถุประสงค์การใช้งานในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ รวมถึงใช้เพื่อการเกษตร การอุปโภค บริโภคของประชาชนในพื้นที่ อ.แม่เมาะ โดย กฟผ.จะชำระมูลค่าน้ำ 50 สตางค์/ลูกบาศก์เมตร ตามข้อมูลจากเครื่องวัดปริมาณน้ำ ของกรมชลประทาน

“น้ำ” เป็นหนึ่งในทรัพยากรและปัจจัยสำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต และขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศทั้งในภาคการเกษตร อุตสาหกรรม ซึ่งจากการดำเนินการสร้างระบบท่อส่งน้ำกิ่วลม-โรงไฟฟ้าแม่เมาะและเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี 2545 หรือนับเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี พบว่าการบริหารจัดการน้ำดังกล่าว ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อภาคการเกษตรและการชลประทาน อีกทั้งยังเป็นการสร้างประโยชน์และมูลค่าจากน้ำส่วนเกินของเขื่อนกิ่วลม ที่ต้องปล่อยทิ้งเมื่อเกินระดับกักเก็บและความต้องการใช้ ผันมายังพื้นที่อ่างเก็บน้ำของ อ.แม่เมาะ ที่ยังสามารถรองรับได้ ช่วยให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตลอดจนชุมชน อ.แม่เมาะ มีน้ำประปาเพื่อการอุปโภคและบริโภค อย่างเพียงพอ มีส่วนช่วยให้รอดพ้นจากวิกฤติภัยแล้งหลายต่อหลายครั้ง และมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศชาติอีกด้วย

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์