วันพุธที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566

แม่พริกลุ่มวิถีเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน แก้วิกฤตชาวนาติดหนี้


ถ้าถามว่าท้อไหม ก็บอกเลยว่าท้อ แต่เราก็ต้องไปให้มันสุด ผมไม่ได้จบเกษตร ไม่ใช่คนลำปาง ผมเป็นคนนครสรรค์มาอยู่ที่นี่ ไม่ได้มีความรู้เรื่องการเกษตร ผมเป็นลูกคนจีน มีความรู้เรื่องค้าขาย มาทำนาที่นี่ ก็เรียนรู้ใหม่หมดเลย ลงมือทำเอง แล้วเราก็ได้เรียนรู้ว่า ปัญหาที่มันเกิดขึ้นเพราะอะไร

ผู้ใหญ่เก่ง บัณฑิตย์ สวรรค์บรรพต ผู้ใหญ่บ้านแม่พริกลุ่ม หมู่ที่ 1 ตำบลแม่พริก อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง เดิมเป็นชาวนครสวรรค์ มีเชื้อสายพ่อค้าชาวจีน ได้ทำอาชีพเกษตรกรกว่า 10 ปี เพื่อนำพาชาวบ้านให้มีรายได้ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

หมู่บ้านแม่พริกลุ่ม มีชาวบ้านมาปรึกษาหารือเป็นประจำ คือ เรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ จึงเกิดการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรขึ้น เริ่มจากการประชุมหารือหาแนวทางเพิ่มราคาข้าวเปลือก มีสมาชิก 18 คน ได้ตัดสินใจร่วมกันปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งกำลังมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมในช่วงระยะเวลานั้น




ปัญหารุมล้อม เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือการลงทุนปลูก และแปรรูปข้าวไรซ์เบอร์รี่ นำไปขายเป็นข้าวสารบรรจุถุงสุญญากาศ เกิดการขายตัดราคาระหว่างเกษตรกรผู้ผลิต ส่งผลให้ยอดขาย และกำไรที่ได้รับ ไม่คุ้มค่า เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตทางการเงิน เกิดหนี้สินกว่า 2 แสนบาท

 


จากวิกฤติในครั้งนั้น กลุ่มจึงได้ขอคำแนะนำจากเกษตรอำเภอ และได้รับคำแนะนำให้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน เพื่อที่จะได้รับโอกาศขอรับงบประมาณจากโครงการที่รัฐบาลสนับสนุน ทางกลุ่มจึงจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจเกษตรชุมชนบ้านแม่พริก เมื่อปี 2558 มีสมาชิก 18 คน ได้รับมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ จากกรมการข้าว เมื่อปี 2562 และได้ติดต่อขายข้าวหอมมะลิแดง ให้กับบริษัท สุขขะเฮาส์ เพื่อส่งออกไปประเทศสิงคโปร์ ในราคาประกันการรับซื้อข้าวเปลือก กิโลกรัมละ 20 บาท ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีอาชีพที่มั่นคง  ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีสมาชิกเพิ่มเป็น 30 คน

รายได้จากการขายข้าวต่อปี

ข้าวหอมมะลิแดงมีปริมาณ 30 ตันข้าวเปลือก ราคากิโลกรัมละ 19 บาท ให้กับบริษัท สุขขะเฮาส์ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 20-25 ตันข้าวเปลือก ขายไปยังพื้นที่ภาคอีสาน ราคากิโลกรัมละ 15 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิ 105 มีปริมาณมาก เก็บไว้ในยุ้งข้าว เมื่อมีคำสั่งซื้อก็จะนำมาจำหน่าย ผู้ขายจะได้ราคากิโลกรัมละ 15 บาท ซึ่งมีราคาดีกว่าราคาตลาดซึ่งมีราคากิโลกรัมละ 12 บาท

ผู้ใหญ่บัณฑิต สวรรค์บรรพต มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิแดง จำนวน 5 ไร่ ได้ผลผลิต 2.5 ตันข้าวเปลือก เมื่อลดความชื้นเสร็จ ขายได้ราคา 4 - 5 หมื่นบาท ผู้แทนบริษัทมารับซื้อ และโอนเงินเข้าบัญชีโดยตรง

วางแผนการผลิตและบริหารจัดการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอย่างไร?

กลุ่มมีการประชุมวางแผนการผลิตและการตลาดอย่างสม่ำเสมอ โดยกำหนดพื้นที่เพาะปลูก แบ่งชนิดพันธุ์ข้าว ตามคำสั่งซื้อ และความเหมาะสมผู้ปลูกที่เชี่ยวชาญต่างกัน ให้คำแนะนำช่วยเหลือ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายเดียวกัน แก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ สมาชิกกลุ่มให้การยอมรับแนวทางการบริหารจัดการ ส่งผลให้เกิดสร้างรายได้ที่ดี และมั่นคงยาวนานกว่า 10 ปี

ได้อะไรจากหลักสูตร Train of the trainer ?

ได้รับความรู้ใหม่ๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิด ภูมิปัญญา สิ่งที่ไม่เคยรู้เลย ก็ได้ไปเรียนรู้ ได้ไปนั่งคุยแลกเปลี่ยนกัน ว่าปัญหาของเรามีอะไร ปัญหาของเขามีอะไร ก็จะมาคุยกัน เพื่อนำมาแก้ไข ความรู้ที่ได้นำมาประยุกต์ โดยเฉพาะน้ำหมักชีวภาพ และสารชีวพันธุ์ ซึ่งนำมาใช้ได้จริงในกลุ่ม และผลิตแจกจ่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตข้าวเป็นอย่างดี




 

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์