วันพุธที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ปลูกมันสำปะหลังลดต้นทุนอาหารโคเนื้อ ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกร


จากครูผู้เกษียณอายุราชการ ที่ค้นพบว่าตนเองถนัดเรื่องปลูกพืชและเลี้ยงโค-กระบือ ทำให้ นายสมใจ คำดี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงโค - กระบือหล่ายดอย  อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ปรับเปลี่ยนตนเองเป็นเกษตรกรอย่างจริงจัง เริ่มจากการปลูกมันสำปะหลัง และพัฒนาคุณภาพโค

 


ในปี 2549 ได้ปลูกมันสำปะหลัง พื้นที่ประมาณ 135 ไร่ของตน พบว่า ไม่ได้กำไร เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง ราคารับซื้อไม่แน่นอน และตลาดรับซื้ออยู่ห่างไกล




 

จึงรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยเข้าร่วมโครงการธนาคารโค – กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ โดยได้รับมอบโค จำนวน 25 ตัว และกระบือ จำนวน 15 ตัว และเกษตรกรรายย่อยได้รับโคและกระบือ รวมกว่า 100 ตัว และได้รับการสนับสนุนปูนซีเมนต์จาก บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด จำนวน 100 ถุง เพื่อทำคอกสัตว์ ปัจจุบันมีโคและกระบือ จำนวน 300 ตัว โดยมีเป้าหมายผลิตแม่วัวพันธุ์ดี ลูกวัวเนื้อพันธุ์ดี และวัวขุน  

 


จากนั้นได้พัฒนาสายพันธุ์โคโดยผสมพันธุ์กับพ่อพันธุ์ชั้นดี โดยวิธีผสมเทียมทำให้ได้ลูกโคที่มีคุณภาพดี ได้รับการสนับสนุนจากปศุสัตว์อำเภอเถิน และปศุสัตว์จังหวัดลำปาง และการอบรมให้ความรู้จากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงการได้รับงบพัฒนาจังหวัดในการจัดซื้อเครื่องอัดฟาง และเครื่องตัดหญ้าติดพ่วงลากบรรทุก มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับกลุ่มพัฒนาโคเนื้อตาก ขายลูกวัวผสมตัวผู้ ขนาด 300 กิโลกรัม ลูกผสมเลือดยุโรป (แบงกัส,ชาโรเลย์ และบรีฟมาสเตอร์) แปรรูปเป็นเนื้อชั้นดีจำหน่ายทั่วประเทศ

 


ปัจจุบันราคาโคเนื้อตกต่ำลงมาก จากตัวละ 3 - 4 หมื่นบาท เหลือเพียงตัวละ 1.5 -2 หมื่นบาท ขณะที่อาหารโคยังมีราคาสูง ทำให้เป็นปัญหาหลักของผู้เลี้ยง และขาดแคลนอาหารโคในฤดูแล้ง

 

จึงนำความรู้ที่มีจากการปลูกมันสำปะหลังผลิตหัวมันคุณภาพ นำมาแปรรูปเป็นอาหารโคเนื้อร่วมกับฟาง ในช่วงฤดูแล้ง (ธันวาคม - พฤษภาคม) ที่ขาดแคลนหญ้าสด ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังจำนวน 10 ไร่  เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านมันสำปะหลังให้เกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจ และได้ขยายแปลงหญ้า ของกลุ่มวิสาหกิจเป็นจำนวน 265 ไร่

 

ลดต้นทุนอาหารโคด้วยมันสำปะหลัง

วิธีการหมักมันสำปะหลังเพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์  ใช้หัวมันสดหรือกากมันสดจากโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง ในราคาตันละ 300-500 บาท  น้ำที่เหลือจากการหมักนำมาราดผสมกับหญ้าเนเปียร์ หรือหญ้าแพงโกลา เป็นอาหารโคที่มีโปรตีนสูง โคขับถ่ายดี และลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ได้มาก

ได้อะไรจากหลักสูตร Train of the trainer ?


อาชีพเกษตรกรรมมีการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด และได้เห็นถึงความตั้งใจของหน่วยงานที่ต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเน้นเกษตรอินทรีย์ ความรู้จากการอบรมครั้งนี้ จะได้นำไปต่อยอดความรู้ที่มี นำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ทำให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น ครอบครัวมีความมั่นคง และมีความสุข  ส่งผลให้เกิดวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง และขอโอกาสขอบคุณไปยัง คณะเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำปาง และขอสัญญาว่าจะขยายองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกรในพื้นที่ต่อไป สร้างเครือข่ายระดับจังหวัด สร้างองค์ความรู้มากมาย

 


อายุไม่ใช่ปัญหาของการเรียนรู้ และการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งเข้าร่วมก็ยิ่งอยากรู้มากขึ้น สิ่งที่เราไม่รู้ก็มีขึ้นทุกวัน ซึ่งในการอบรม มีคำพูดหนึ่งกล่าวว่า การที่เราขายสินค้าไม่ได้เพราะเรายืนไม่ถูกที่ คำพูดนี้ทำให้กลับมาคิดว่าผลิตภัณฑ์ของเราไปขายที่ไหน เราจะต้องนำสิ่งต่างๆมาใช้ให้หลากหลาย ให้เกิดการประยุกต์ ประหยัด ให้เกิดประโยชน์  ดังเช่นการนำมันสำปะหลังมาดัดแปลงเป็นอาหารโคใช้ในช่วงฤดูแล้ง เป็นทางรอดของการทำปศุสัตว์

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์