วันพุธที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566

เกษตรอินทรีย์ยากที่ใจ ไม่ใช่ยากที่วิธีการ แนะเกษตรกรรุ่นใหม่ถ้ามีใจก็เริ่มลงมือทำ

  

ณัฐวุฒิ แก้วก่อน  ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ริมวัง ตำบลวังแก้ว อำเภอวังเหนือ  ได้อธิบายถึงความเป็นมาของสวนริมวัง โดยตนได้เก็บเกี่ยวความรู้จากการศึกษาดูงาน และอบรมทั้งในและต่างประเทศ ด้านการเกษตร ที่มีระยะเวลาถึง 30 ปี และนำความรู้ที่ได้รับมาทำการเกษตรตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ด้วยตัวเอง เดินตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อนำประสบการณ์ที่มีค่า ถ่ายทอดต่อเกษตรกรรุ่นใหม่ ต่อไป

   

“ปีแรกที่ตัดสินใจมาทำ จากคนที่เคยไปเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ สู่การลงมือทำเอง  บอกได้ว่าต้องนับหนึ่งใหม่ พิสูจน์ตัวเอง 8 เดือนที่ต้องใช้ชีวิตที่นี่ ตอนขุดหลุมครั้งแรกถามตัวเองว่า ใช่เราหรือไม่ จนถึงทุกวันนี้ตอบได้ว่าใช่ และสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ เมื่อผ่านจุดนั้นมาได้ จุดนี้มีแต่ความสุข”



การรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ริมวัง เริ่มจากสมัยอดีตท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม  มาตรวจเยี่ยมสวนริมวัง  และขอให้ช่วยเป็นเกษตรกรต้นแบบให้แก่กลุ่มเกษตรกรต้นน้ำวังที่มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโดยลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนปลายน้ำ  เริ่มต้นเมื่อปี 2561 ได้รวมกลุ่มกันขึ้น 17 ราย  ปัจจุบันเกิดเป็นสมาชิกแปลงใหญ่ 32 ราย  ที่ทำเกษตรอินทรีย์ เป็นเกษตรผสมผสาน พืชผัก และไม้ผล มีการบริหารจัดการกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ เป็นฝ่ายผลิต ฝ่ายตลาด ฝ่ายบัญชี  คณะกรรมการผู้ตรวจแปลงเพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้า  ที่สวนริมวังมีการพัฒนาด้านการเกษตรที่นำเทคโนโลยีระบบ IOT สั่งการจ่ายน้ำทุกโรงเรือน โดยการตั้งเวลาทางโทรศัพท์มือถือ  ใช้เวลาเพียง 5 นาที สามารถรดน้ำผักได้เสร็จ เทียบกับใช้แรงงานคน  1 โรงเรือนใช้เวลา 1 ชั่วโมง  เป็นการลดค่าใช้จ่ายไปเยอะมาก


ได้อะไรจากหลักสูตร Train of the trainer บ้าง?

“ได้ความรู้เยอะมาก ตั้งแต่การเพาะขยายพันธุ์ จนถึงการปลูก รวมทั้งประสบการณ์จากเกษตรกรหลายๆท่าน  ถึงเราจะมีองค์ความรู้อยู่ แต่ก็ต้องพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ  รู้เทคนิคใหม่ที่นำเข้ามา ผสมผสานกับภูมิปัญญา นำมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน  โครงการดีๆแบบนี้ควรมีต่อเนื่องอย่างยิ่ง  เพราะการ ได้เข้าไปสัมผัสกับเกษตรกร  ได้เรียนรู้กระบวนการเริ่มต้นจริงๆ  และจบได้ภายใน 10 วัน แล้วสามารถนำความรูกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทุกอย่าง  ทำให้เกษตรกรมีความหวัง  อยากให้เกษตรกรได้มีโอกาสไปเห็นกับตา และได้ลงมือปฏิบัติจริง เพราะเกษตรกรเรียนรู้ได้ไม่รู้จบ ไม่รู้เบื่อ”  

เกษตรอินทรีย์ปลูกอะไรก็ได้ขาย  แต่ต้องปลูกให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ต้องวางแผนการผลิตให้ต่อเนื่อง เพราะปัญหาที่พบตอนนี้ก็คือ ผลผลิตไม่พอขาย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน พืชบางชนิดปลูกยาก เช่น พืชตระกูลสลัด ปี้นี้จะไม่ค่อยโต  เราพยายามที่จะเพิ่มผลผลิต โดยมีความคิดว่าทำอย่างไรให้เกษตรกรเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น ที่ศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการสินค้าเกษตร (ตลาดเกษตรกร) จังหวัดลำปาง มีเครือข่าย ทีมงานพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยง  ช่วยสอนการปลูกไปจนถึงการขาย เป็นศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้เกษตรกรในจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียง 

 

หากต้องการปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ต้องทำอย่างไร?

 ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ริมวัง กล่าวว่า  เกษตรอินทรีย์ยากที่ใจ  ไม่ใช่ยากที่วิธีการ   ถึงแม้จะทำเกษตรเคมีมาก่อน  ถ้ามีใจแล้วเลิกใช้สารเคมีทุกชนิดทันที  เข้าสู่ในระยะปรับเปลี่ยน 1 ปี วางแผนดำเนินการ ป้องกันไม่ให้สารเคมีใกล้เคียงเข้ามา ทั้งทางพื้นดินและอากาศ ดูแลการใช้น้ำ วิธีง่ายๆ เพียงทำตามคนประสบความสำเร็จ  ทำตามพี่เลี้ยง คนทำเกษตรอินทรีย์มีใจที่จะให้ความรู้อยู่แล้ว เริ่มแรกไม่จำเป็นต้องปลูกเยอะ เน้นการแบ่งปัน ถ้าผู้บริโภคอยู่ได้เราอยู่ได้  การันตีว่าทำไม่ยากถ้ามีใจ

 





 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์