วันพุธที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566

กฟผ.แม่เมาะ ขานรับนโยบายรัฐ หนุนใช้รถยนต์ไฟฟ้าในหน่วยงาน พร้อมสร้างสถานีชาร์จขนาดใหญ่รองรับอนาคต

การใช้รถยนต์ไฟฟ้าของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อ้างอิงจากการคาดการณ์ขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของโลกจะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 35 หรือประมาณ 14 ล้านคันจากยอดขาย 10 ล้านคันในปี 2022 ที่ตรงกับข้อมูลจากกรมขนส่งทางบก พบว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า(BEV : Battery Electric Vehicle) ระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2566 อยู่ที่ 66,919 คัน ที่เพิ่มขึ้นถึง 300 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 

ประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องนโยบายและมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 และเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ มาตรการ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี (2024-2027) เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  

โดยลดอากรนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปไม่เกินร้อยละ 40 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับเงินอุดหนุนไม่เกิน 100,000 บาท ตามประเภทของรถและขนาดของแบตเตอรี่ ส่วนผู้ผลิตจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเพื่อชดเชยการนำเข้า ซึ่งต้องผลิตชดเชย 2 คันต่อการนำเข้า 1 คัน ภายในปี 2026 และผลิตชดเชย 3 คันต่อการนำเข้า 1 คันภายในปี 2027 โดย กฟผ.ได้ร่วมสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเปิดให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้ากว่า 180 สถานี ทั่วประเทศภายในปีนี้ 



ด้านโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยได้ปรับเปลี่ยนรถยนต์สันดาปในหน่วยงานที่หมดอายุการใช้งานเป็นรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งในปี 2566 ได้ปรับเปลี่ยนรถประจำหน่วยงานและรถผู้บริหารเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแล้วจำนวน 8 คัน และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กฟผ.แม่เมาะ ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้รถมินิบัสไฟฟ้า จำนวน 28 คัน เพื่อรับส่งผู้ปฏิบัติงานแทนรถบัสดีเซลแบบเดิม โดยจะทยอยปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับทิศทางการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564  ที่กำหนดเป็นหลักการให้ทุกส่วนราชการพิจารณาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ไฟฟ้า(Electric Vehicle : EV) มาใช้ในราชการทดแทนรถยนต์เดิมที่หมดอายุการใช้งานหรือที่ต้องจัดซื้อจัดจ้างขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับภารกิจประกอบกับจังหวัดลำปาง โดยสำนักงานคลังจังหวัดลำปางได้มีหนังสือที่ ลป 000๓/ว ๑๖๗๑๗  ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐทราบและถือปฏิบัติ 

นอกจากนี้ปัจจุบันสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว 120 KW จำนวน 8 สถานี 16 หัวจ่าย ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้วคาดว่าจะรองรับรถยนต์ไฟฟ้าของหน่วยงาน รวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปในอนาคตซึ่งจะช่วยลดปัญหาด้านมลภาวะ พร้อมขับเคลื่อนจังหวัดลำปางให้เป็นเมืองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ต่อไปในอนาคต


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์