วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2528 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบรัฐพิธีเปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นเวลากว่า 39 ปี ที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะที่เป็นโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำที่สุดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าส่องแสงสว่างขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยมายาวนาน ถึง 38 ปี หากเปรียบโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นคนคงเสมือนหนุ่มวัยกลางคนที่สะสมประสบการณ์ชีวิตผ่านเรื่องราวต่างๆ พร้อมที่จะพาตนเองและคนรอบข้าง ชุมชน สังคมและประเทศชาติ มุ่งสู่ความมั่นคงด้านพลังงาน รวมไปถึงการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ก้าวผ่านและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดจนสามารถปรับตัวเพื่อให้ทันกับโลกในยุคดิจิทัล
เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเมื่อปี 2565 ส่งผลให้เกิดวิกฤตพลังงาน โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวิติการณ์ ตั้งแต่เลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8-11 ออกไปจนถึงเดือนธันวาคม 2568 รวมไปถึงการนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 ขนาดกำลังผลิต 150 เมกะวัตต์กลับมาเดินเครื่องเสริมในช่วงที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องอื่นๆ ขัดข้องหรือหยุดเดินเครื่อง ระหว่างเดือนธันวาคม 2565 – ธันวาคม 2568 การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะยังช่วยชาติลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินมาช่วยทดแทนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่มีราคาแพงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน
นอกจากการรักษาความมั่นคงในระบบการผลิตไฟฟ้าแล้ว โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีภารกิจสำคัญในการสนองนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) ของประเทศ โดยดำเนินโครงการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นชีวมวลอัดแท่งเผาร่วมกับถ่านหินลิกไนต์(Biomass Co-Firing) การศึกษาความเป็นไปได้การปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8-14 เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล พร้อมกับการวางรากฐานความมั่นคงด้านพลังงานและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชน อ.แม่เมาะ ภายใต้การดำเนินงานของโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) ผ่านการดำเนินงานด้านพลังงาน เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะโดยมีเป้าหมายให้ อ.แม่เมาะ มีการบริหารจัดการพลังงานอย่างคุ้มค่า ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อสร้างรายได้ตลอดจนพัฒนาด้านสาธารณูปโภคและความเป็นอยู่พื้นฐานของชุมชนให้สามารถปรับตัวก้าวผ่านไปสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางด้านพลังงานสะอาดในอนาคตในปี 2567 ครบรอบ 39 ปี โรงไฟฟ้าแม่เมาะพร้อมจะก้าวสู่ปีที่ 40 เดินหน้าตามทิศทางพลังงานในอนาคตที่มุ่งไปสู่พลังงานสะอาดและลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ปรับตัวและพัฒนากระบวนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตลอดจน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนโรงไฟฟ้าแม่เมาะยังคงยืนหยัดเคียงข้างสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ และพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่รอยู่ในอนาคต
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น