วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567

สภาผู้แทนราษฎร ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว ถือเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อเวลา 14.03 น. วันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ภายหลังจากมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในวาระ 2 จนครบ 38 มาตรา

จากนั้นประธานในที่ประชุมได้เรียกสมาชิกลงมติ ในวาระ 3 โดยมีผู้ลงมติจำนวน 414 คน ปรากฏว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  เห็นด้วย 399 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง  งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง


นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการลงมติว่าจะเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากหรือไม่ โดยมีผู้ลงมติจำนวน 401 คน ปรากฏว่า เห็นด้วย 393 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง  ไม่ลงคะแนน 4 เสียง

ทำให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทำให้คณะกรรมาธิการต่างปรบมือ และโบกธงสีรุ้งด้วยความดีใจ

สำหรับเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดให้การสมรสหรือแต่งงานครอบคลุมบุคคลทุกเพศ ไม่จำกัดแค่เพศชายและเพศหญิง พร้อมทั้งให้อายุการสมรสเป็น 18 ปี จากเดิม 17 ปี และการบัญญัติคำว่า บุพการีลำดับแรกในกฎหมายให้มีสิทธิและหน้าที่เทียบเท่าบิดามารดา

ทั้งนี้ ประเทศไทย จะถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ที่ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ที่มา ไทยรัฐ


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์