วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2567

ชุมชนตำบลบ้านดง ส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์สร้างอาชีพ โดยใช้แพลตฟอร์ม Farm Book ด้านการตลาด

ชาว ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง มุ่งสู่การสร้างนิคมชุมชนเกษตรแม่เมาะเพื่อการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน นอกจากโรงเรือนเกษตรแนวตั้ง Maemoh Fresh ที่เปิดทำการตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ได้บูรณาการกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนตำบลบ้านดง ส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์ปลอดสารพิษเพิ่มในพื้นที่แปลงอพยพ ต.บ้านดง เพื่อสร้างรายได้และส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ โดยสร้างโรงเรือนปลูกผักอินทรีย์แบบเปิด ที่มีการติดตั้งมุ้งกันแมลงพร้อมระบบควบคุมการให้น้ำ และนวัตกรรมปลูกผักบนโต๊ะเพื่อจำกัดการขึ้นของวัชพืช ทำให้วัชพืชขึ้นในแปลงผักน้อยลงและกำจัดง่ายโดยไม้ใช้สารเคมี ช่วยลดการบอบช้ำของผักจากการถอนวัชพืช ซึ่งดินที่ปลูกผักจะถูกปรุงธาตุอาหารตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ โดยมีศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ.แม่เมาะ เป็นผู้ให้คำแนะนำช่วยเหลือชุมชนในการดูแลพืชให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างโรงเรือนปลูกผักไปแล้วจำนวน 6 โรงเรือน และเริ่มปลูกผักชุดแรกวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ผักที่ปลูกได้แก่ ผักเรดคอรัล, ผักเรดโอ๊ค, ผักฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก, ผักเบบี้คอส, ผักกรีนโอ๊ค, ซึ่งชุมชน ต.บ้านดง ได้ยกระดับการบริหารจัดการ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นบริษัท นิคมชุมชนเกษตร แม่เมาะ จำกัด เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2567 เพิ่มความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรการผลิตและบริหารจัดการบุคลากรสร้างความเป็นเจ้าของในธุรกิจ เพื่อการการมีส่วนร่วมของชุมชนที่มากขึ้นให้ก่อเกิดธุรกิจของคนในชุมชนที่มีการจัดการอย่างต่อเนื่องสร้างงานสร้างรายได้แก่คนในพื้นที่อย่างยั่งยืน


ด้านการตลาด บริษัท นิคมชุมชนเกษตรแม่เมาะ จำกัด และ กฟผ.แม่เมาะ ได้ร่วมมือกับบริษัท คิว บ็อคซ์ พอยท์ จำกัด ในการสร้างมาตรฐานสินค้า โดยนำแพลตฟอร์ม Farm Book มาใช้ในการวางแผนเพาะปลูกและกำหนดมาตรฐานสินค้า ซึ่ง ฟาร์มบุ๊ค (Farmbook) คือแพลตฟอร์มเกษตรออนไลน์ที่ทำให้ เกษตรกรผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ผู้จัดจำหน่าย ผู้ซื้อและผู้บริโภค จากทั่วทุกมุมโลกได้มาพบกัน และกำหนดมาตรฐานในการทำธุรกิจร่วมกัน เป็นแพลตฟอร์มที่มีข้อมูลตลาดที่ชัดเจน และสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับถึงขั้นตอนและที่มาผลผลิตได้ การซื้อขายจึงเป็นไปอย่างมีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ด้วยความร่วมมือดังกล่าวทำให้ผักในโรงเรือนเกษตรอินทรีย์ของชุมชนพื้นที่ ต.บ้านดง มีตลาดรองรับส่งผลผลิตให้กับสถานประกอบการชั้นนำ อาทิ Makro, Lotus, Dusit Thani, The Mall เป็นโครงการพัฒนาชุมชนระยะยาวที่ กฟผ.แม่เมาะ ได้พัฒนาโดยอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่มีจุดมุ่งหมายให้ชุมชนพื้นที่อำเภอแม่เมาะมีการพัฒนาที่ยั่งยืน




Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์