วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2567

กฟผ.แม่เมาะ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเดินหน้าจัดการและแยกทิ้งขยะ ครอบคลุมระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม

            ในกระบวนการทำงานของ “เหมืองแม่เมาะ” ซึ่งเป็นเหมืองลิกไนต์เปิดที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ จะเกิดขยะที่มีความหลากหลายในแต่ละขั้นตอน จึงได้ดำเนินการจัดการและการแยกทิ้งขยะ เพื่อแยกประเภทและทำลายขยะให้ถูกต้องตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ครอบคลุมระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001: 2015) ของเหมืองแม่เมาะ และเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมี แผนกบำรุงรักษาอาคาร (หบอ-ช.) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

แต่ละปีจะจัดเก็บและนำส่งขยะไปยังศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยครบวงจร องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง จำนวนกว่า 400 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ภายในและภายนอกเหมืองแม่เมาะ รวมถึง พื้นที่ทำการและบ้านพักพนักงานบริษัทผู้รับจ้าง จำนวน 2 สัญญา , บ้านพักผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ , ศูนย์ฝึกอบรมแม่เมาะ และบ้านพักรับรองศูนย์ฝึกอบรมแม่เมาะ ในขณะที่ ขยะอันตรายก็ได้กำหนดให้แต่ละหน่วยงานคัดแยกแล้วนำไปทิ้งที่โรงแยกขยะ เพื่อดำเนินการจ้างทำลายต่อไป ล่าสุด ยังได้รณรงค์กระตุ้นเตือน พร้อมเชิญชวนผู้ปฏิบัติงานร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่น่าอยู่ด้วยการจัดการขยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หันมาลดขยะ และจัดการขยะอย่างถูกวิธี มีสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม 


นายจรัสพงษ์ เยาวรัตน์ หัวหน้าแผนกบำรุงรักษาอาคาร (หบอ-ช.) กองโยธา (กธ-ช.) ฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ (อผม.) เปิดเผยว่า เหมืองแม่เมาะ แบ่งการบริหารจัดการขยะออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ขยะไม่อันตราย ประกอบด้วย 1.1 ขยะทั่วไป (General Waste) ขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และไม่ปนเปื้อนสารเคมี เช่น ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงขนม ถุงพลาสติก เศษไม้ เศษอาหาร เศษพืชผัก เปลือกผลไม้ เศษแก้ว มูลฝอยต่างๆ เศษวัสดุที่ไม่ใช้งาน เป็นต้น ได้กำหนดจุดวางถังขยะในพื้นที่เหมืองแม่เมาะจำนวนรวมกว่า 178 จุด นอกจากนี้ ยังได้กำหนดจุดวางถังขยะพื้นที่นอกเหมืองแม่เมาะในความรับผิดชอบ ทั้งพื้นที่ทำการและบ้านพักพนักงานบริษัทผู้รับจ้าง จำนวน 2 สัญญา , บ้านพักผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ , ศูนย์ฝึกอบรมแม่เมาะ และบ้านพักรับรองศูนย์ฝึกอบรมแม่เมาะอีกจำนวนหนึ่งด้วย

การจัดเก็บขยะจะดำเนินการทุกวันทำการ และนำส่งไปกำจัดไปยังศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยครบวงจร องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ปัจจุบัน มีรถจัดเก็บขยะจำนวน 3 คัน ทั้งชนิดเปิดข้างเทท้าย สามารถรองรับปริมาณขยะจำนวน 1 ตัน และชนิดบีบอัด สามารถรองรับปริมาณขยะจำนวน 5 ตัน โดยรถแต่ละคันจะมีเจ้าหน้าที่ประจำรถจำนวน 5 คน ข้อมูลในปี 2566 มีปริมาณขยะที่จัดเก็บรวมจำนวนกว่า 400 ตัน แบ่งเป็นขยะในพื้นที่เหมืองแม่เมาะจำนวน 216 ตัน และพื้นที่นอกเหมืองแม่เมาะในความรับผิดชอบจำนวน 194 ตัน ใช้งบประมาณดำเนินการจำนวน 148,000 บาท


1.2 ขยะรีไซเคิล (Recyclable Waste) ขยะที่ไม่ปนเปื้อนสารเคมี และนำกลับไปผ่านขบวนการผลิตเพื่อนำกลับมาใช้ได้ใหม่ เช่น กระดาษ เศษเหล็ก กระป๋อง พลาสติก ขวดแก้ว เป็นต้น หน่วยงานระดับแผนกจะเป็นผู้ควบคุมการแยกทิ้ง โดยขยะที่ไม่ได้ส่งคืนกองพัสดุและจัดหาเหมืองแม่เมาะ (กจมม-ห.) ให้หน่วยงานคัดแยกแล้วนำไปทิ้งในถังที่จัดเตรียมให้ที่จุดต่างๆ ให้ถูกต้องในขณะที่ ขยะใช้งานแล้วบางชนิดต้องส่งคืน กจมม-ห. ให้ปฏิบัติตามวิธีการจัดเก็บและการจำหน่ายขยะพัสดุคืนซาก

ส่วนที่ 2 ขยะอันตราย ขยะควบคุมพิเศษ (Pollution Control Waste) ขยะที่ปนเปื้อนสารเคมี หรือน้ำมัน ต้องผ่านการจัดการด้วยวิธีการที่เหมาะสมเพื่อทำลาย เช่น ขวดสารเคมีใช้แล้ว หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย เป็นต้น ให้แต่ละหน่วยงานนำไปทิ้งที่โรงแยกขยะ ซึ่งหมวดสาธารณูปโภค และงานบริการ หบอ-ช. จะตรวจสอบและบันทึกปริมาณขยะคืนคลังพัสดุ เมื่อปริมาณขยะมีมากพอจะทำบันทึกแจ้งให้ กจมม-ห. ให้ดำเนินการจ้างทำลายต่อไป ซึ่งขยะในส่วนนี้มีปริมาณไม่มากนักจะจัดทำเรื่องดำเนินการจ้างทำลายทุกๆ 5 ปี


เหมืองแม่เมาะ ได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ล่าสุด ได้รณรงค์กระตุ้นเตือน ปลุกจิตสำนึกให้ผู้ปฏิบัติงานมีสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม เชิญชวนร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่น่าอยู่ด้วยการจัดการขยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หันมาลดขยะและจัดการขยะอย่างถูกวิธี นำร่องตั้งวางจุดคัดแยกขยะ บริเวณด้านข้างแผนกงานบุคคลเหมืองแม่เมาะ (หงมม-ห.) อาคารที่ทำการเหมืองแม่เมาะ (ตึกขาว) และจะต่อยอดไปยังหน่วยงานต่างๆ ต่อไป “แยกขยะก่อนทิ้ง ดีต่อใจ ดีต่อโลก (ที่มา : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)” ข่าวจาก:แผนกประชาสัมพันธ์เหมืองแม่เมาะ

 


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์