ศึกษาและทำความเข้าใจ ‘ข้อห้าม’ ในการเลือก สว. เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ หรือ ถูกตัดสิทธิสูงสุด 20 ปี
การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 200 คน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พรป. การได้มาซึ่ง สว.) กำหนดให้บุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคมทำการ ‘เลือกกันเอง’
ดังนั้น ผู้ที่สมัครรับเลือก สว. เท่านั้นที่จะมีสิทธิเลือก สว. เองได้ โดยประชาชนทั่วไปมีหน้าที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบผู้สมัคร
แต่ทั้งนี้ตาม พรป. การได้มาซึ่ง สว. ได้กำหนดข้อห้ามไว้ซึ่งมีผลบังคับใช้รวมไปถึงบุคคลอื่นที่เป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือก สว. ซึ่งหากบุคคลใดกระทำการที่ละเมิดต่อข้อห้ามที่กำหนดไว้ในการรับเลือก สว. ก็มีสิทธิที่จะได้รับโทษเช่นกัน
โดย พรป. การได้มาซึ่ง สว. กำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือก สว. ไว้ ดังนี้
1. ผู้ใดสมัครเข้ารับการเลือกพรป. การได้มาซึ่ง สว. มากกว่า 1
กลุ่ม หรือมากกว่า 1 อำเภอ
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี (
มาตรา 67 )
2. ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกไม่ว่าเพราะเหตุใด ได้สมัครรับเลือก
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และ ปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี ( มาตรา 74 )
3. ผู้ใดรับรองหรือเป็นพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองเอกสารหรือหลักฐานที่ใช้ประกอบการรับสมัครเป็นเท็จ
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี ( มาตรา 75 )
4. ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือถอนการสมัคร
หรือกระทำการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกหรือได้รับเลือก
หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนน หรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด
(1) จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
(2) ทำการแนะนำตัวด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ
(3) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
(4) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้สมัครใด
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี ( มาตรา 77 )
5. ผู้ใดเรียกหรือรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดเพื่อลงสมัครรับเลือก
หรือไม่ลงสมัครรับเลือกเพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครผู้ใด
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี ( มาตรา 79 )
นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามกำหนดไว้ใน พรป. การได้มาซึ่ง สว. รวมไปถึงข้อกำหนดในการแนะนำตัวของผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 รวมถึงแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 ไว้เพิ่มเติมอีก เพื่อควบคุมการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ในส่วนของสื่อมวลชนที่อาจมีข้อกังวลในการปฎิบัติหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ระบุไว้ว่า สื่อมวลชนสามารถเสนอข่าวได้ตามปกติ ตามหลักวิชาชีพ อาทิ รายงานข่าวในที่เลือก ใครสมัครในกลุ่มสาขาอาชีพใด วิเคราะห์ จัดเวที เสนอข้อเท็จจริง สัมภาษณ์ผู้สมัครเกี่ยวกับเรื่องอื่นได้
แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้ถูกสัมภาษณ์ อย่างไรก็ตาม ต้องพึงระวังในการทำหน้าที่สื่อ ต้องไม่เป็นการช่วยเหลือเพื่อแนะนำตัวผู้สมัครรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ
ท้ังนี้หากมีข้อสงสัยในข้อห้ามและข้อพึงระมัดระวังในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง https://www.ect.go.th/ect_th/th/db_119_ect_th_6/2967 หรือสอบถามได้ที่สายด่วน 1444
#สว67 #เลือกตัวแทนประชาชน
#20กลุ่มอาชีพร่วมใจขับเคลื่อนประเทศไทยไปพร้อมกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น