วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ผอ.แขวงทางหลวงฯ มั่นใจเจ้าของโครงการคิดมาดีแล้ว ขอบคุณประชาชนที่สะท้อนปัญหา พร้อมหารือตำรวจทางหลวง ปรับจุดตรวจจับความเร็วให้เหมาะสม

          กรณีการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว และกล้อง CCTV ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง  ขณะที่ ผอ.แขวงทางหลวงลำปางที่ 1 เผยว่าเป็นเรื่องดีที่มีการสะท้อนปัญหานี้ ซึ่งการติดตั้งป้ายบังคับความเร็ว กล้องตรวจจับความเร็ว และกล้อง CCTV ทำเพื่อความปลอดภัยของผู้รถใช้ถนน เชื่อว่าเจ้าของโครงการคิดมาดีแล้ว

นายโสภณ วีระวัฒนยิ่งยง ผอ.แขวงทางหลวงลำปาง ที่ 1 กล่าวว่า  โครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดเส้นทางลำปาง-ลำพูน ได้รับงบประมาณจากกองทุนความปลอดภัยทางถนน รูปแบบโครงการมี 3 ส่วน  กล้องตรวจการ 18 ตัว กล้องจับความเร็ว 6 ตัว  จอแสดงผล 2 จอ  ตอนนี้โครงการยังไม่ได้ส่งมอบให้กับตำรวจทางหลวง จึงยังไม่ได้บังคับใช้ทางกฎหมาย

เส้นทางนี้กายภาพของถนนเท่าที่ทราบจะอยู่ในพื้นที่ 2 จังหวัด ลำปางและลำพูน สำหรับ จ.ลำปางเป็นทางเขาลาดชัน และเป็นทางโค้งคดเคี้ยว มีการจำกัดความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว แต่บางช่วงที่เป็นเส้นทางวิกฤต ทั้งคดเคี้ยวและอยู่บนทางลาดชัน จะมีการกำหนดอัตราความเร็วอยู่ที่ 50 ก.ม./ช.ม.  ส่วนในพื้นที่ จ.ลำพูน มีกำหนดการใช้ความเร็วเพิ่มเติม เช่นทางตรงที่มีความลาดชันและยาว อยู่ที่ 80 ก.ม./ช.ม. เพื่อป้องปรามให้ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย  ซึ่งเป็นไปตามหลักวิศวกรรม เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่

ผู้ใช้รถใช้ถนนจะมีผู้ใช้ทางประจำ จะมีการใช้ความเร็วค่อนข้างสูงแต่ก็สามารถควบคุมรถได้  ขณะเดียวกันผู้ที่ไม่ชำนาญกับเส้นทางนี้ เช่นนักท่องเที่ยว หากใช้ความเร็วสูง ก็อาจจะมีผลต่อความปลอดภัย เพราะเขาไม่ทราบว่าข้างหน้ามีทางโค้งคดเคี้ยว หรือขึ้นเขาอย่างไรบ้าง  อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้  จึงต้องมีการติดตั้งป้ายจำกัดความเร็วเป็นช่วง ในจุดที่มีความวิกฤต  ซึ่งทางกรมทางหลวงได้ติดตั้งป้ายก่อนที่จะมีโครงการนี้แล้ว 

ผอ.แขวงทางหลวงลำปาง ที่ 1  กล่าวอีกว่า การสะท้อนปัญหาออกมาเป็นเรื่องดี ทางโครงการจะได้รับทราบปัญหาต่างๆ  เชื่อว่าคนคิดโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทางอยู่แล้ว โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ จากการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจะได้ศึกษารูปแบบของเส้นทาง ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อให้ผู้ใช้รถได้อย่างปลอดภัย  ในส่วนของผู้ที่ไม่สบายใจเกี่ยวกับเรื่องกล้องตรวจจับความเร็วในเส้นทางนี้  เกรงว่าจะมีการตรวจจับความเร็วในพื้นที่ลงเขา ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงความเร็วกะทันหัน  ทางแขวงฯจะได้มีการพูดคุยกับตำรวจทางหลวงในพื้นที่ว่าจะไม่ตรวจจับในจุดวิกฤตเหล่านี้ หรือปรับเปลี่ยนจุดติดตั้งอย่างไรได้บ้าง 

เส้นทางนี้มองถึงกายภาพของทางแล้ว เป็นโครงข่ายที่สำคัญมากเป็นประตูสู่ จ.ลำพูน จ.เชียงใหม่ ที่คนเดินทางมาจากภูมิภาคอื่นๆ  ดูแลเส้นทางนี้ยอมรับว่าหนักใจ เพราะเวลาเกิดอุบติเหตุมีการปิดจราจร ผู้ใช้รถใช้ถนนใช้ความเร็วสูง ช่องจราจรปิดไป 1 เลนระหว่างเคลียร์อุบัติเหตุ รถวิ่งลงเนินมาด้วยแรงโน้มถ่วงความเร็วจะเพิ่มโดยอัตโนมัติทันที ถ้าไม่ใช้เกียร์ต่ำ ทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้  จึงต้องติดตั้งป้ายเตือนต่างๆ เพื่อให้ใช้ความเร็วที่เหมาะสม   


เชื่อว่าคนคิดโครงการมองแล้วว่า จุดนี้รูปแบบการศึกษารายงานได้หลายมิติ เพราะฝั่งลำปางจะเป็นทางขึ้นเขา คดเคี้ยว อีกด้านฝั่งลำพูนเป็นทางตรงยาว มีขึ้นเนินบ้างบางจุด  ด้วยกายภาพของถนนที่แตกต่างค่อนข้างมาก เป็นผลดีของการศึกษาวิเคราะห์ เพื่อเป็นโครงการนำร่องนำไปใช้ในจโครงการอื่นๆต่อไป

สำหรับสถิติการเกิดอุบัติเหตุเส้นทางดอยขุนตาล ลำปาง-ลำพูน วันที่ 1 ม.ค.64 ถึง 28 พ.ค.67 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 21 ครั้ง  เสียชีวิต 2 คน  บาดเจ็บ 11 คน  ลักษณะที่เกิดเหตุ เป็นทางตรง 3 ครั้ง ทางโค้งปกติ 10 ครั้ง ทางลาดชัน 8 ครั้ง   รถที่เกิดอุบัติเหตุ เป็นรถยนต์กระบะ  8 คัน รถบรรทุกมากกว่า 6 ล้อ ไม่เกิน 10 ล้อ  6 คัน  รถบรรทุก 6 ล้อ 3 คัน  รถจักรยานยนต์ 1 คัน และรถอื่นๆ 2 คัน  ผู้ประสบเหตุจะอยู่ในช่วงอายุ 40-50 ปีขึ้นไป เป็นส่วนใหญ่  รองลงมาคือช่วงอายุ 25-39 ปี 



 

Share:

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ03 มิถุนายน, 2567 08:14

    ขอให้ท่านมาขับรถตามที่กำหนด ไม่ต้องมีรถนำขบวน ไม่ต้องมีคนคุ้มกัน จะได้รู้มันสมเหตุสมผลไหม

    ตอบลบ

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์